จอมโจรองคุลิมาล สัญลักษณ์คนหลงผิดกลับใจ

514
views

องคุลิมาล หรือ พระองคุลิมาลเถระ เป็นบุคคลสำคัญในยุคต้นแห่งพุทธศาสนา โดยเฉพาะตามพุทธประวัติพุทธฝ่ายเถรวาท เดิมนั้นเป็นโจรปล้นฆ่าคน แต่ภายหลังมีศรัทธาในพุทธศาสนา ได้กลับใจบวชเป็นพระภิกษุ และบรรลุเป็นพระอรหันต์ อีกทั้งมียังบทสวดของท่านอีกด้วย ชื่อ อังคุลิมาลปริตร คำว่า องคุลิมาล นั้นมาจากคำว่า อังคุลี (นิ้วมือ) + มาลา (มาลัย สร้อยคอ สาย แถว) แปลว่า ผู้มีนิ้วมือเป็นมาลัย.

…“องคุลิมาล”ถือกำเนิดในคืนเดือนมืด โหรทุกทิศต่างทำนายว่าเด็กที่ลืมตาดูโลกในค่ำคืนเช่นนี้ย่อมมีอนาคตไม่สดใสนัก บิดามารดาของเขาจึงระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ และตั้งชื่อทารกน้อยว่า“อหิงสกะ”แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียนใคร

เจ้าหนูอหิงสกะเติบโตเหมือนชาวเมืองคนอื่นๆเมื่อเจริญวัยเขาร่ำเรียนศิลปวิทยาการจนเจนจัด จากนั้นก็มุ่งหน้าไปยังสำนักทิศาปาโมกข์เพื่อร่ำเรียนวิชาการต่อสู้ ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งความนิยมในสมัยนั้น อหิงสกะตั้งใจฝึกฝนวิชาจนกลายเป็นศิษย์รักของอาจารย์

เมื่อมีคนรักย่อมมีคนชัง ความดีเด่นของอหิงสกะกลับสร้างศัตรูให้เขาโดยไม่รู้ตัว ศิษย์ร่วมสำนักคิดกำจัดเขา ลงมือใส่ไคล้โดยบอกเจ้าสำนักว่าอหิงสกะคิดจะโค่นบัลลังก์ครู อาจารย์ผู้หูเบาจึงวางแผนดึงอหิงสกะลงสู่หุบเหวแห่งความชั่วร้าย เขาหลอกให้อดีตศิษย์รักออกเดินทางสังหารคนให้ครบพันชีวิต เพื่อจะได้บรรลุพิธีวิษณุมนตร์(มนตร์สรรเสริญพระนารายณ์)ซึ่งเป็นวิชาขั้นสูงที่จะทำให้อหิงสกะนำชื่อเสียงกลับบ้านเกิดได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะแบกความหวังของบิดามารดามาหนักอึ้ง อหิงสกะจึงจำยอมให้มือตนเองเปื้อนเลือดในที่สุด

ชายหนุ่มเลือกจะตัดนิ้วมือของทุกคนที่เขาฆ่า เพื่อให้ตนเองจดจำได้ว่า เขาเข่นฆ่าคนไปแล้วกี่คนนิ้วมือทุกนิ้วถูกอหิงสกะร้อยรวมกันเป็นพวงแล้วสวมคล้องคอตนเองไว้ การสวมพวงมาลัยที่ทำด้วยนิ้วมือคนเช่นนี้จึงเป็นที่มาของฉายา “องคุลิมาล”มหาโจรที่คนทั้งบางได้ยินชื่อแล้วต้องกลัวลนลาน

วันสุดท้ายของการใช้ชีวิตเป็นมหาโจรองคุลิมาลมีนิ้วมือห้อยอยู่บนคอทั้งสิ้นเก้าร้อยเก้าสิบเก้านิ้ว จิตใจที่มืดมิดเพราะความหลงทำให้ดวงตาขององคุลิมาลมืดบอดไปด้วย เมื่อเขาพบสตรีร่างบางเดินผ่านมา เขาจึงมุ่งมาดจะลงดาบสังหาร โดยหารู้ไม่ว่าสตรีนางนั้นคือมารดาผู้ให้กำเนิดตนเอง เดชะบุญที่พระพุทธเจ้าทรงนั่งสมาธิหยั่งรู้ว่าองคุลิมาลกำลังจะกระทำมาตุฆาตซึ่งเป็นบาปมหันต์ พระพุทธองค์จึงปรากฏพระองค์ขึ้นเพื่อให้จอมโจรหันเหความสนใจมาเอาชีวิตของพระองค์แทน แต่ไม่ว่าองคุลิมาลจะเร่งฝีเท้าตามพระองค์สักเท่าใด ก็ไม่สามารถตามพระพุทธเจ้าที่เพียงทรงพระดำเนินด้วยอิริยาบถธรรมดาได้ทัน

ในวินาทีที่จอมโจรร้องเรียกให้พระพุทธเจ้าหยุดฝีเท้านั้นเอง พุทธพจน์“เราหยุดแล้ว ท่านต่างหากที่ยังไม่หยุด”จึงถือกำเนิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า“พระองค์ทรงหยุดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งปวงแล้ว แต่องคุลิมาลยังไม่หยุดทำกรรมเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น”เมื่อได้ยินดังนี้ ดวงจิตของมหาโจรก็สว่างพ้นจากกิเลสลุ่มหลงทั้งปวง องคุลิมาลจึงพร้อมยอมทิ้งอาวุธ และบวชเป็นพระภิกษุมุ่งหน้าเดินบนหนทางธรรม เพื่อนำชีวิตสู่แสงสว่างทันที

หากผลกรรมที่เคยทำเมื่อครั้งยังเป็นโจรทำให้องคุลิมาลต้องเผชิญเคราะห์กรรมนานัปการ ทั้งถูกชาวบ้านชาวเมืองรุมประณามทำร้ายขณะออกบิณฑบาตจนเลือดตกยางออก มิหนำซ้ำภาพที่ตนเคยทำร้ายทำลายชีวิต ยังตามหลอกหลอนให้จิตฟุ้งซ่านในยามปฏิบัติธรรม ทำให้องคุลิมาลต้องทนทรมานอย่างมาก ต่อเมื่อคิดตัดใจได้ว่าไม่มีวันย้อนเวลากลับไปแก้ไขความ ผิดพลาดในอดีตได้ ดวงจิตขององคุลิมาลจึงพ้นจากความพะวงทั้งปวงและบรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

แม้จะเคยผิดพลาดจนแทบถอนตัวไม่ขึ้นแต่เรื่องราวของขุนโจรผู้หลงผิด แต่เปลี่ยนชีวิตด้วยพระธรรมจนพ้นจากบ่วงกรรม คนนี้สามารถยืนยันประโยคที่ว่า“ไม่มีคำว่าสายสำหรับการกลับตัวเป็นคนดี”ให้คนทั้งโลกเข้าใจอย่างไร้ข้อกังขาใดๆ

เรื่อง อิสระพร บวรเกิด

เรื่องราวขององคุลิมาล มีการเล่าขยายความเอาไว้ในเรื่อง “กามนิต” ของคาร์ล อดอล์ฟ เจลเลอร์รุป กวีชาวเดนมาร์ก.