กามนิต ผู้ที่หวังจะได้เข้าพบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

429
views

กามนิต (เยอรมัน: Der Pilger Kamanita) เป็นวรรณกรรมประเภทนวนิยายอิงพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงมาก ประพันธ์ใน ค.ศ. 1906 โดยคาร์ล แอดอล์ฟ เกลเลอโรป นักประพันธ์ชาวเดนมาร์ก ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมใน ค.ศ. 1917

หนังสือกามนิตได้รับการยกย่องให้เป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ฉบับภาษาไทยแปลโดยเสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป ในปี พ.ศ. 2473 มีรูปประกอบโดยอาจารย์ช่วง มูลพินิจ โดยแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ (The Pilgrim Kamanita) ซึ่งแปลมาจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน (Der Pilger Kamanita) อีกทอดหนึ่ง

เนื้อเรื่องย่อ

ในเรื่องกามนิต กล่าวถึงบุรุษผู้หนึ่งผู้ซึ่งมีนามว่า กามนิต ผู้ที่หวังจะได้เข้าพบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อจะได้ขจัดความทุกข์ต่าง ๆ ที่ตนได้เผชิญมา และเพื่อจะได้พบกับความสุขอันเป็นนิรันดร์ ในระหว่างการเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น กามนิตได้เข้าขอพักที่บ้านของช่างปั้นหม้อท่านหนึ่งเป็นการชั่วคราว และในวันเดียวกันนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้เสด็จมาขอพักอาศัยที่บ้านหลังนั้นด้วยพอดี กามนิตจึงได้มีโอกาสเล่าเรื่องของตนเองและสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้าโดยที่ไม่รู้เลยว่า สมณะที่สนทนาอยู่นั้นคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

เรื่องราวดำเนินส่วนแรกเป็นภาคพื้นดิน และต่อในส่วนหลังเป็นภาคสวรรค์ กามนิตได้เสียชีวิตระหว่างเดินทางเพื่อจะได้พบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไปเกิดเป็นเทวดาและพบกับวาสิฏฐี ทั้งสองได้เล่าเรื่องราวชีวิตหลังความรักในโลกมนุษย์ ประสบการณ์แห่งการไขว่คว้าหากันจนได้มาพบเจอพุทธศาสนา ตลอดจนการเห็น การเกิดดับของสรรพสิ่งที่แม้แต่สวรรค์และพรหมก็หลีกหนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลง มีแต่บรมสุขแห่งพระนิพพานที่เป็นทางออกแห่งการเดินทางอันยาวนานนี้ วาสิฏฐีได้เข้าถึงความจริงนี้ก่อน ทำให้กามนิตได้รู้ว่าบุคคลที่ตนพบในบ้านช่างปั้นหม้อและได้ให้สัจธรรมแห่งความจริงไว้พิจารณาคือใคร การไม่ต้องเวียนว่ายอีกต่อไปเป็นเช่นไรในที่สุด

ในเรื่องกามนิตนี้ มีกามนิตและวาสิฏฐีเป็นตัวเอก และนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังมีองคุลิมาล พระอานนท์ และพระสารีบุตรปรากฏในเรื่องอีกด้วย เป็นการเชื่อมโยงหลักธรรมในพุทธศาสนากับความจริงแห่งความรักได้อย่างลึกซึ้งและกินใจ เดิมหนังสือไม่ได้มีการแบ่งเล่มเป็นสองภาค แต่ได้มีการแบ่งภาคเพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาทำความเข้าใจส่วนภาคสวรรค์และประเด็นเรื่องนักบวชหญิงและภิกษุณี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี