ตามรอยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดเขาขุนพนม นครศรีธรรมราช

14854
views
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีตำนานของชาวนครศรีธรรมราชเล่าว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมิได้ถูกสำเร็จโทษ แต่ทรงผนวชและลงเรือเสด็จไปประทับที่ถ้ำวัดเขาขุนพนม เมืองนครศรีธรรมราชดังที่เคยตั้งพระทัยไว้

วัดเขาขุนพนม

ตามประวัติเชื่อกันว่า เขาขุนพนม เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชภายหลังจากสิ้น รัชกาลของพระองค์ มีผู้สันนิษฐานว่าพระเจ้าตากสินทรงมิได้ถูกประหารชีวิต อย่างที่พงศาวดารกล่าวอ้าง แต่ ได้ทรงสับเปลี่ยนพระองค์กับพระญาติหรือทหารคนสนิท แล้วเสด็จมายังนครศรีธรรมราช มีการเตรียมการ โดยมีการสร้างป้อมปราการ ทำเชิงเทิน ป้อมวงกลมตามชะง่อนผาเพื่อให้พระเจ้าตากสินได้ประทับเมื่อทรงผนวชเจริญวิปัน สนากรรมกรรมฐาน ณ วัดเขาขุนพนมจนเสด็จสวรรคต แต่บางกระแสกล่าวว่าเขาขุนพรม สร้างโดยพระยาตรังภูมาภิบาลเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

วัดเขาขุนพนม

สำหรับพักตากอากาศที่เขาขุนพนมจึงมีการสร้าง ป้อมปราการคอยป้องกันอย่างแน่นหนา ความสำคัญต่อชุมชน ชาวเขาขุนพนมมีความเชื่อเรื่องพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จหนีมาประทับที่เขาขุนพนม จึงได้ร่วมมือ กันสร้างพระตำหนักสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บริเวณชะง่อนหินเชิงเขา ซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อว่าพระองค์ ประทับขณะผนวชอยู่ ประชาชนที่ยังระลึกถึงวีรกรรม และความกล้าหาญในการกู้เอกราชชาติไทยในสมัยเสีย กรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ได้ร่วมกันสร้างพระบรมสาทิสลักษณ์ ทั้งในเพศบรรชิต และชุดฉลองพระองค์นักรบ แล้วอัญเชิญมาไว้ในศาลให้ผู้คนที่ศรัทธาได้มากราบไหว้ ปัจจุบันจึงมีประชาชน จากทั่วสารทิศมาเขาขุนพนม อยู่เสมอเพื่อตามรอย

วัดเขาขุนพนม

พระเจ้าตากสินมหาราชลักษณะทางสถาปัตยกรรมเขาขุนพนมมี ลักษณะเป็นภูเขาหินปูนลูกโดดเตี้ย ๆ มีต้นไม้ปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น บนภูเขามีถ้ำหินปูน ที่มีโพรงหินงอกหินย้อน ลักษณะของภูเขาวางตัวอยู่ในแถบเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ ๗๕๐ เมตร กว้างตามแนวทางทิศตะวันออก-ตะวันตก ประมาณ ๕๐๐ เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๔๓ เมตร ส่วนยอดเขาสูง จากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๑๖๕ เมตร ทางทิศใต้ของภูเขาเป็นทางลาดชัน ทางทิศเหนือเป็นไหล่เขา ทางทิศตะวันตกเป็นสวนมังคุดและสวนยางพารา ทางทิศตะวันตกเป็นโรงเรียนและวัดเขาขุนพนม เขาขุนพนมมีจุดเด่นอยู่ที่วัดเขาขุนพนมซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของเขาขุนพนม ประวัติการก่อสร้างไม่ปรากฏ แต่หลักฐานประเภทโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ สามารถบ่งนี้ได้ว่า วัดเขาขุนพนมน่าจะสร้างขึ้นในตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

พระเจ้าตากสินมหาราช

ที่วัดเขาขุนพนม แห่งนี้มีการร่วมสร้างอนุสาวรีย์ของ พระองค์ท่าน แสดงออกซึ่งศรัทธาของคนเมืองคอนที่มีต่อพระองค์ และดูเหมือนเป็นการตอกย้ำริ้วรอยของประวัติศาสตร์ที่แม้นไม่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ฝังรากลึกอยู่ในตำนานการบอกเล่าของชาวนครศรีฯ

โบสถ์มหาอุตร

ข้อสันนิษฐานที่ว่าพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพำนัก ณ ตำหนักบนเขาขุนพนม มีการสร้างวัด และโบสถ์มหาอุตรหลังพระองค์สิ้นพระชนม์ ณ วัดเขาขุนพนม อ.พรหมคีรี จ. นครศรีธรรมราช

บทความของ อ.ชวลิต อังวิทยาธร นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนครศรีธรรมราช ผู้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลในเรื่องดังกล่าวได้อธิบายว่า การตามรอยสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้นเกิดขึ้นจาก บทความเพลงร้องเรือ สถานที่ วัตถุโบราณ และโบราณสถานที่ยังเหลือร่องรอยให้ปรากฏ รวมถึงมุมมองการบอกเล่ากล่าวกันมาจากบรรพบุรุษมากกว่า 200 ปี

พระเจ้าตากสินมหาราช

บทความร้องเรือที่ว่ามานั้นมีดังนี้
“ฮาเหอ ว่าแป๊ะหนวดยาวเราสิ้นทุกข์ เอาศพใส่โลงดีบุกค้างไว้ในดอนดง ลูกเจ้าจอมหม่อมปลัดถือฉัตรธง เอาศพไปค้างไว้ในดอนดง ค่อยปลงศพบนเมรุใหญ่ เหอ”

ส่วนคำอธิบายถอดความว่าไว้นั้นคือ แป๊ะหนวดยาว นั้นอาจหมายถึงสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อทรงสิ้นพระชนม์ในพระตำหนักเขาขุนพนม (ดอนดง) โดยสันนิษฐานว่า ในระยะเวลาดังกล่าวพระองค์ทรงพำนัก ณ ตำหนักบนเขาขุนพนม มีการสร้างวัด และโบสถ์มหาอุตรหลังพระองค์สิ้นพระชนม์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจทางศาสนา และเก็บพระบรมศพ และใช้ซึ่งภายในถ้ำโดยมีร่องรอยหลักฐานสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยกรุงธนบุรีปรากฏอยู่ ก่อนจะมีการปลงพระศพพร้อมกับศพของเจ้าพระยานคร (หนู) ที่เมรุใหญ่สนามหน้าเมือง ซึ่งปรากฏเป็นพระวิหารสูงในปัจจุบัน

ความสัมพันธ์ของเมืองนครศรีธรรมราชกับกรุงธนบุรี เรื่องการยกทัพมาปราบชุมนุมพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ซึ่งพระเจ้าตากสินทรงยกทัพทางเรือมาด้วยพระองค์เอง ขึ้นฝั่งที่หน้า “วัดท่าโพธิ์” จนปรากฏชื่อ “ถนนตากสิน” ในระหว่างการกรีธาทัพในครั้งนี้ทรงเลื่อมใสศรัทธาต่อองค์พระบรมธาตุ เข้านมัสการและปฏิบัติธรรม รวมทั้งปฏิสังขรณ์ วิหารทับเกษตรรวมองค์พระบรมธาตุ ทำให้ชาวนครเรียกทางเดินบริเวณนี้ว่า “ทางเดินเจ้าตาก” รวมถึงเจดีย์หิน ภายในบริเวณวัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร ที่ชาวนครเรียกว่า “เจดีย์เจ้าเมือง”

วิหารทับเกษตรเส้นทางพระเจ้าตากฯในวิหารทับเกษตร

นอกจากนี้ ยังทรงอัญเชิญพระไตรปิฎกฉบับนครศรีธรรมราชไปยังกรุงธนบุรีในครั้งการชำระพระไตรปิฎกสมัยกรุงธนบุรีอีกด้วย โดยในครั้งนั้นทรงสร้างพระพุทธรูป เพื่อเป็นอนุสรณ์และทดแทนพระไตรปิฎกดังกล่าวมีชื่อว่า “พระบรมราชา” หรือพระบรมราชาที่ 4
และนี่ก็คือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในร่องรอยของประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบอกเล่าผ่าน มากว่า 200 ปี ของเมืองนครศรีธรรมราช เมืองที่มีเรื่องราวให้น่าค้นหาอีกมากมาย

ข้อมูลจาก หนังสือชื่อ “ตามรอยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในนครศรีธรรมราช” ซึ่งจัดพิมพ์โดยวัดเขาขุนพนม
บทความของ อ.ชวลิต อังวิทยาธร นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนครศรีธรรมราช

๑๗ เมษายน น้อมรำลึก วันพระราชสมภพพระเจ้าตากสิน และวันคล้ายวันเกิด “สมเด็จโต”

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร