คู่สร้างคู่สม คู่เวรคู่กรรม คู่ทุกข์คู่ยาก หรือ คู่เบียดเบียน

7178
views
คู่สร้างคู่สม

สามี หรือภรรยา นับเป็นปัจจัยเสริมความสุขและความร่ำรวยของชีวิตมนุษย์ คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตร่ำรวยเงินทองมากมายล้วนมีพื้นฐานของความเป็นครอบครัวที่ดีทั้งสิ้น แม้แต่พระพุทธเจ้ายังทรงมีภรรยาและบุตรที่ประเสริฐคอยตามสนับสนุนเกื้อกูลกันทุกภพทุกชาติ ในที่สุดในชาติสุดท้ายก็ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ความสัมพันธ์ของคู่รักหรือสามีภรรยา ที่อาจจะทุกข์เพราะกรรมที่ทำร่วมกันมา เชื่อว่าคงเคยจะได้ยินแล้วว่า คนเราจะพูดกันว่าเป็นเรื่องของบุพเพสันนิวาส ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงยังไม่ทราบจริงๆ ว่า คำว่าบุพเพสันนิวาสนี้ นั้นหมายถึงอะไรกันแน่

คู่รัก

พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรื่องของ ความรักและบุพเพสันนิวาส ไว้ดังนี้ไว้ว่า

“ปุพฺเพ สันนิวาเสนะ ปัจจะปันนะหิเตนะ วา เอวันตัง ชายะเต เปมัง อุปะลังวะ ยะโถ ทะเก ฯ”

แปลโดยสรุปได้ว่า ความรักนั้น เกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ ประการนี้คือ

๑. ด้วยเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ปางก่อน

๒. ด้วยช่วยเหลือเกื้อกูลกันในปัจจุบัน

คู่รัก

ความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น มักจะตีความหมายไปที่การที่คนทั้งคู่เคยได้อยู่ร่วมกันในชาติปางก่อนในฐานะสามีภรรยาเท่านั้น ซึ่งความจริงยังไม่ใช่เสียทั้งหมดความหมายของบุพเพสันนิวาสนี้ซับซ้อนมากกว่านั้นเยอะเพราะยังกินความหมายเข้าไปถึง การที่คนทั้งคู่อาจจะได้อยู่ร่วมอันในฐานะอื่นก็ได้

เช่นคนที่เกิดมาเป็น พี่กับน้อง พ่อกับลูก แม่กับลูก เพื่อนกับเพื่อน ศิษย์กับอาจารย์ บ่าวกับเจ้านาย หรือในบางคู่ถึงขึ้นเคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันเลยก็มี ทุกชีวิตล้วนแล้วแต่เป็นเจ้ากรรมนายเวรซึ่งกันและกัน หรือคนที่เคยทำกรรมร่วมกันมาแต่อดีตชาติที่กลายมาเป็น “คู่เวรคู่กรรม” คอยตามล้างตามเช็ดกันในชาตินี้

คำว่า “กรรมร่วมกันมาแต่อดีตชาติ” เป็นคำที่หมายถึง คนสองคน หรือมากกว่านั้น เคยทำอะไร ร่วมกันมา อาจจะเป็นทางที่ดีก็ได้ ทางไม่ดีก็ได้ เช่นเคยทำบุญร่วมกันมา เคยทำบาปร่วมกันมา ดังนั้นเรื่องของบุพเพสันนิวาสจึงไม่ใช่และไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ครองกันเสมอไป เพราะกรรมร่วมกันนั้นมีทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดี

เมื่อเราเข้าใจและทราบดีแล้ว่า บุพเพสันนิวาสนั้นหมายถึงอะไร จึงอาจจะได้รับคำตอบเล็กๆ ที่คาใจเราได้ส่วนหนึ่ง ในเรื่องของการใช้ชีวิตคู่กันที่เราอาจจะเคยรู้สึกสงสัยตงิดๆ ว่า ทำไมเนื้อคู่ของเราคนนี้นั้นมีหน้าตาคล้ายๆ กับเรา ก็เพราะอาจจะเป็นพี่น้องกันมาก่อนในอดีตชาติ

คู่รัก

ทำไมคู่ครองของเรา ในบางครั้ง บางวันดูเขาช่างเป็นคนดุเข้มงวด เจ้ากี้เจ้าการ บังคับเราในเกือบทุกเรื่อง บอกให้เราต้องทำโน่นทำนี่ ไม่หยุดเหมือนกับเราเป็นลูก ก็เพราะอาจจะเคยเป็นพ่อแม่มาก่อน ความสัมพันธ์นี้เป็นเรื่องของแรงแห่งบุญและกรรมที่ได้กระทำต่อกัน เคยเกื้อกูลกันมาแล้วมาในชาตินี้ต้องมาเกื้อกูลกันต่อถึงจะได้พบกัน

คำว่า เนื้อคู่ ก็คือคนที่จะมาเกิดมาเป็นสามีภรรยากันในชาติปัจจุบันและ ต้องพึงพอใจในกามราคะ ซึ่งกันและกันถึงจะอยู่ร่วมกันได้ อาจจะเป็นชายและหญิงที่เคยอยู่ร่วมกันมาในหลายภพ หลายชาติที่ผ่านมา หรือจะเป็นชายกับชาย เป็นหญิงกับหญิง หรือเป็นกลุ่ม คนที่อยู่ในบุพเพสันนิวาสก็ได้ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งเพื่อนกับเพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง ศิษย์กับครู นายกับบ่าว ที่มีเป็นลำดับจำนวนมากมายมหาศาลในภพชาติที่ผ่านมา

คนสองคนที่มาเป็นผัวเมียกันได้ในชาตินี้หรือเป็นเนื้อคู่กันนั้น ต้องมีเรื่องของกามราคะเป็น ตัวเหนี่ยวนำเข้ามาหากันและกรรมได้ลิขิตเท่านั้น กลุ่มคนในบุพเพสันนิวาสที่มีหลายประเภทนั้น ถ้าไม่มีกามราคะเป็นตัวเหนี่ยวนำก็จะไม่มีทางได้มาเป็นสามีภรรยากันหรือเนื้อคู่แน่นอน

อย่างไรก็ตามมีหลายคนที่ได้สละความเป็นลำดับเนื้อคู่ แล้วก้าวเข้าสู่โลกแห่งธรรมะ ก็สามารถใช้บุญนั้นหยุดวิบากกรรมที่จะนำมาสู่การเป็นผัวเมียกันได้ ยิ่งในระดับของผู้ปฎิบัติธรรมชั้นสูง คือ ตั้งแต่พระอนาคามีขึ้นไป ท่านเหล่านี้จะเป็นผู้ที่ตัดสิ้นแล้วในกามราคะและไม่ปรารถนามาเกิดอีก ท่านก็สละสิทธิ์ ไม่มีการที่จะมาต่อคิวลำดับจากใครอีกแล้ว พวกเนื้อคู่เก่าก่อนที่เคยผูกเวรผูกกรรมกันมา ก็หมดโอกาสมาเป็นเนื้อคู่กันอีก และต้องไปผูกพันกับคนอื่นต่อไป

คู่ชีวิต

ลักษณะของความเป็นเนื้อคู่

๑. เนื้อคู่ที่เป็นดุจเพชฌฆาต คือได้มาครองคู่กันเพราะเคยสร้างกรรมที่ต้องเบียดเบียนกันมา เมื่อได้แต่งงานกันก็เพราะเล็งถึงผลประโยชน์ที่รออยู่เบื้องหน้า พิธีสมรสเป็นเพียงทางผ่านไปสู่การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ และทั้งสองพร้อมที่จะแทงข้างหลังกันได้ทุกเมื่อ ไม่มีการพูดถึงเรื่องความรักความเอื้ออาทรที่มีต่อกันให้เสียเวลา

๒.เนื้อคู่ดุจคู่โจร คือเคยสร้างกรรมกันมาเพื่อเบียดเบียนในทรัพย์สิน เมื่อแต่งงานอยู่กินกันแล้ว เมื่อฝ่ายหนึ่งหาทรัพย์สินมาได้ก็ถูกอีกฝ่ายล้างผลาญหมดไม่มีเหลือ เหมือนไฟที่ไม่เคยอิ่มเชื้อ ทะเลที่ไม่เคยอิ่มน้ำ ฝ่ายหนึ่งหาแทบตาย อีกฝ่ายทำให้หมดให้หายได้ในพริบตา อยู่ด้วยกันแล้วเหนื่อยแทบล้มประดาตาย

๓. เนื้อคู่ดุจเจ้านาย คือเคยได้สร้างกรรมเบียดเบียนกันในเรื่องการกดขี่ข่มเหงมาก่อน หลังจากได้แต่งงานกันแล้วอีกฝ่ายกลับแสดงธาตุแท้ที่ไม่พึงประสงค์ออกมา คอยกดขี่ข่มเหงอีกฝ่ายอยู่ตลอดทั้งที่ก่อนหน้าจะครองคู่เคยเสียสละและให้ได้ทุกอย่าง คิดข่มเหงให้อีกฝ่ายได้ต้อยต่ำและคล้อยตามตนเองเสมอ อยู่ด้วยกันเหมือนอยู่กับพัศดีคุมนักโทษ หรือเหมือนอยู่ในกรง ประเภทที่ว่า “วันแต่งงานคือวันสิ้นอิสรภาพ” เสียอย่างนั้น

๔. เนื้อคู่ดุจบิดามารดา คือ เคยได้มีความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลกันมาก่อนตั้งแต่อดีตชาติด้วยความเมตตาอารี เมื่อได้ตกล่องปล่องชิ้นกันแล้ว ทั้งคู่ต่างเฝ้ารักดูแลซึ่งกันและกัน เหมือนบิดามารดารักษาบุตร ทำดีก็ช่วยส่งเสริม ทำไม่ดีก็ช่วยห้ามปราม แรกรักเป็นอย่างไร ยาวนานไปก็ยังเป็นอย่างนั้นเสมอต้นเสมอปลาย หน้าหนาวก็ไม่ต้องห่มผ้าให้ หน้าร้อนก็ไม่ต้องนอนแช่น้ำเย็น เพราะอยู่ด้วยกันอบอุ่นใจไร้กังวล

๕. เนื้อคู่ดุจพี่น้อง เนื้อคู่ประเภทนี้คือต่างฝ่าย ต่างให้ความยำเกรงซึ่งกันและกันเหมือนน้องสาวเคารพรักพี่ชาย ต่างคนต่างให้เกียรติ ให้ความนับถือ ยอมรับฟังเสียงของอีกฝ่ายด้วยจิตใจที่อ่อนโยนมีเมตตา ไม่ถือตัวถือตนให้เป็นใหญ่กว่ากัน ไม่ทะนงตน แม้ยามงอนกันก็ทำแต่พองาม ยามที่ร้ายก็พยายามรั้งสติให้ฉุกคิด มีของกินดีๆ ก็พลอยนึกถึง หรือหากต้องพลาดพลั้งล้มครืนอะไรก็คอยประคับประคองซึ่งกันและกัน

๖.เนื้อคู่ดุจเพื่อน คือเมื่อแม้วันเวลาผ่านวันชื่นคืนสุขมา ความเป็นทั้งเพื่อนและคนรักก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังรักและให้ความภักดีต่อกันเสมอๆ เคยเป็นเช่นใดก็เป็นเช่นนั้นตลอดไป นอกจากนั้นทั้งคู่ยังมีความคิด การศึกษา กิริยางามรักเดียวใจเดียว ไม่มีการซิกแซกนอกใจให้อีกฝ่ายต้องร้าวรานหัวใจให้เจ็บช้ำ

๗. เนื้อคู่ดุจทาสรับใช้ คู่ประเภทนี้ก็เป็นคู่รับเวรรับกรรมกับคู่แบบเจ้านาย ฉันยอมเธอได้ทุกอย่างเพียงเพราะคำว่า “รัก” คำเดียว ไม่ว่าจะถูกข่มเหงรังแก ถูกใช้เยี่ยงทาสอย่างไรก็ทนได้ทั้งสิ้น ซึ่งก็นับว่าเป็นคู่ที่อาภัพแบบหนึ่งเพราะขาดสติปัญญากำกับปล่อยให้ความหลงครอบงำจิตใจเพียงอย่างเดียว

คู่ที่พอจะยอมรับได้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขก็คือ คู่บิดามารดา คู่เพื่อน และคู่พี่น้อง ทั้งสามแบบนี้ถือว่าเป็นคู่ที่คอยสนับสนุนส่งเสริมกัน เป็นคู่บุญคู่บารมีได้ นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นไปในทางลบก็คือเป็นคู่เบียดเบียน คู่เวรคู่กรรม คู่ทุกข์คู่ยาก ไม่ใช่คู่สร้างคู่สมแบบทั้งสามแบบแรกไม่

โดย ธ.ธรรมรักษ์