เที่ยวบางขัน นครศรีธรรมราช พระพุทธลีลาศูนย์รวมใจ พ่อท่านไข่วาจาสิทธิ์ ฯ….

11684
views

ความเป็นมาของการสร้างพระพุทธรูปประจำอำเภอนี้ สืบเนื่องมาจาก นายราย ดำสมาน นายอำเภอบางขันสมัยนั้น และราษฎรอำเภอบางขันจำนวนหนึ่ง พิจารณาเห็นพ้องกันว่าที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอบางขันนั้นอยู่บนเนินสูงและจุดกลางของพื้นที่เป็นสถานที่โดดเด่น ริมทางหลวงแผ่นดินสายบ่อล้อ – ลำทับและอำเภออื่นของจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชายทะเลตะวันตก (ทะเลอันดามัน) ลัดไปสู่จังหวัดพังงา ภูเก็ต ระนอง ได้สะดวก

ฉะนั้นจุดที่ตั้งที่ว่าการอำเภอบางขันจึงน่าจะสร้างพระพุทธรูปใหญ่ เพื่อเป็นศูนย์รวมใจประชาชนและเป็นสัญลักษณ์ประจำอำเภอบางขัน พุทธบริษัท ผู้มีจิตศรัทธาในและต่างจังหวัดทั้งใกล้และไกลรวมทั้งจะสร้างเพื่อน้อมเกล้่า ฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวาระที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙

ด้วยแรงแห่งความร่วมมือดังกล่าว พระพุทธรูปองค์นี้สำเร็จได้ด้วยความรวดเร็ว และได้รับขนานนามว่า (พระพุทธลีลาศิริธรรมนครอัครมหามิ่งมงคล) เป็นพระพุทธรูปปางลีลาหล่อด้วยโลหะขนาดสูง ๕๐๙ เซนติเมตร ประดิษฐานบนเนิน (ควน) ซึ่งตกแต่งและเทพื้นควนกรีดเรียบร้อย สูงจากระดับพื้นที่ว่าการอำเภอบางขัน ประมาณ ๑๔.๕๐ เมตร การประดิษฐานพระพุทธรูปได้ดำเนินการแล้วเสร็จ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๙ ที่ฐานพระพุทธรูปเป็นพื้นที่กว้างสามารถจุคนได้หลายร้อยคน เมืออยู่ข้างบนจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของอำเภอบางขัน ที่ประกอบด้วยทิวเขาสลับซับซ้อนได้ชัดเจนรอบด้าน

พระครูศีลมงคล(พ่อท่านไข่ นาถสีโล) วัดลำนาว อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช
เมื่อสมัยที่ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช พระอริยสงฆ์แห่ง ปักษ์ใต้ยังครองสังขารอยู่ ได้มีชาวบ้าน อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราชไปกราบท่านอยู่เป็นประจำ พ่อท่านคล้ายจะบอกให้ทราบว่า บัดนี้ที่บางขันได้มีไก่ขันหลอแหลขึ้นมาแล้วให้ไปกราบไหว้ท่านเสีย เพราะเป็นพระบริสุทธิ์สงฆ์ที่กราบไหว้ได้สนิทใจ พระบริสุทธิ์สงฆ์ที่ พ่อท่านคล้ายพูดถึงนั้น ท่านหมายถึง พ่อท่านไข่ แห่งวัดลำนาว นั่นเอง ด้วย เหตุที่พ่อท่านไข่ท่านเป็นพระที่มีความยึดมั่นในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มีศีล สมาธิ ปัญญามีความสะอาดหมดจดทั้งกายวาจาใจ มีปฏิปทาอันน่าเคารพศรัทธาเลื่อมใส ไม่ว่าท่านจะกล่าวอะไรก็จะเป็นไปตามคำที่ท่านกล่าวเสมอ จนเป็นที่เลื่องลือกล่าวขานกันว่า พ่อท่านไข่ วาจาสิทธิ์

ประวัติพ่อท่านไข่ วาจาสิทธิ์ วัดลำนาว ท่านมีสมณศักดิ์ที่ พระครูศีลมงคล ฉายา นาถสีโล อายุ ๙๑ ปี นาม เดิม ไข่ นะจะทอง โยมบิดาชื่อ ด้วง โยมมารดาชื่อ คล้าย ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๗ เดือน ๗ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๕๖ มีพี่น้อง ๓ คน เป็นชายทั้งหมด

หลวงพ่อไข่ ท่านบวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี และอุปสมบทเป็นพระเมื่ออายุ ๒๑ ปี ณ อุโบสถวัดชัยชุมพล อ.ทุ่งสง โดยมี พระครูอุดมศีลาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงพ่อไข่ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัย ฝึกสมาธิกรรมฐาน กับครูบาอาจารย์หลายต่อหลายท่านจน หลวงพ่อไข่มีความเชี่ยวชาญแตกฉานในวิชาแขนงต่างๆ รวมทั้งพระคาถาอาคมขลัง

ต่อมาพ่อท่านไข่ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งสร้าน วัดวังขรี วัดทุ่งควายและสุดท้ายท่านได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาส วัดลำนาว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ *** วันนี้ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๑๙.๓๐ น. หลวงปู่ไข่ นาถสีโล ได้ละสังขารไปด้วยอาการอันสงบ

พ่อท่านไข่ ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทำวัตรปฏิบัติไม่เคยขาด เจริญกรรมฐานเป็นอารมณ์ท่านสวดพระคาถาชินบัญชรเป็นนิจ ตั้งแต่สมัยที่ท่านอุปสมบทใหม่ๆ จนถึงปัจจุบันทั้งยังเป็นพระที่รักสันโดษ มักน้อย สมถะ ไม่ยืดติดในลาภยศใดๆ ทั้งสิ้น สมกับเป็น พระแท้พระบริสุทธิ์สงฆ์ อันแท้จริงของชาวใต้ และเป็นหลักชัยของ อ.บางขัน ตลอดมา

ในแต่ละวัน พ่อท่านไข่ วัดลำนาวท่านจะรับแขกเพียงหนึ่งหรือสองเวลาเท่านั้น ส่วนใหญ่ชาวบ้านที่ไปหาท่านก็เพื่อขอพรจากท่าน เพราะต่างก็เชื่อกันว่า พรที่ได้จาก”หลวงพ่อไข่ วาจาสิทธิ์ วัดลำนาว“ท่านนั้นศักดิ์สิทธิ์มาก และจะเป็นไปตามวาจาสิทธิ์ของท่านเสมอ
ที่มา – tumsrivichai.com

ดุจเนรมิตเขานางนอน


ภาพ – สุมนกาญจน์ สุขศรีเมือง


ภาพ – น้องสุ เด๊ก’สิชล’

บ่อนำร้อน บางขัน

น้ำพุร้อน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช – อุทยานบ่อน้ำร้อน วัดอุทยานบ่อน้ำร้อน หมู่ที่ ๑๓ ตำบลวังหิน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช
แผนที่ “อุทยานบ่อน้ำร้อน อำเภอบางขัน” https://goo.gl/gUEh86

ปัจจุบันถือว่าเป็นจุดหมายปลายทาง ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สำคัญแห่งหนึ่ง โดยบ่อน้ำร้อนประกอบไปด้วยบ่อน้ำร้อนรวม ๙ บ่อ เส้นผ่าศูนย์กลางของแต่ละบ่อประมาณ ๓-๔ เมตรมีบ่อเล็ก ๆ อีกหลายบ่อ เป็นพื้นที่ราบริมคลอง พบน้ำผุดอยู่ในห้วยหลายแห่ง คุณภาพน้ำดี ใส ไม่มีกลิ่นกำมะถัน นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะได้ชมบ่อน้ำร้อน หรืออาบและแช่น้ำแร่ก็ย่อมได้เช่นกัน


“ทิวทัศน์ช่องเหรียง งามตา”