วิธี”กรวดน้ำ”ที่ถูกต้อง ได้บุญกุศล-เกิดผลสูงสุด เจ้ากรรมนายเวรได้รับ

4122
views
กรวดน้ำ

วิธีกรวดน้ำให้ได้บุญกุศล-เกิดผลสูงสุด เจ้ากรรมนายเวรได้รับ

ใส่บาตร

การกรวดน้ำหลังทำบุญเสร็จ คือ การตั้งใจอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่เราได้ทำไว้แล้วไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว พร้อมทั้งรินน้ำให้ไหลลงไปที่พื้นดินหรือที่รองรับ แล้วเอาไปเทที่พื้นดินอีกต่อหนึ่งหรือรดที่โคนต้นไม้ก็ได้
นิยมทำกันอย่างนี้ คือ

เตรียมน้ำสะอาดใส่ภาชนะ จะเป็นคณฑี แก้วน้ำ ขวดน้ำ หรือขัน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ และหาภาชนะสำหรับรองน้ำกรวดไว้ให้พร้อม พอพระเริ่มอนุโมทนาขึ้นบทว่า “ยถา วาริวหา…..” ก็เริ่มกรวดน้ำ (รินน้ำ) ลงในภาชนะรองรับ

ในระหว่างที่ทำการกรวดน้ำนั้น เราควรระลึกถึงผู้ที่มีคุณ หรือมีเวรกรรมต่อกัน เพื่ออุทิศผลบุญที่ได้ทำให้แก่บุคคลเหล่านั้น เมื่อพระว่าจบและขึ้นบทว่า สัพพีติโย….พร้อมกัน ผู้กรวดน้ำพึงหยุดกรวดน้ำแล้วประนมมือรับพร เสร็จแล้วจึงนำน้ำที่กรวดนั้นไปเทลงบนดินที่สะอาด หรือที่โคนต้นไม้ก็ได้

พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทำบุญอุทิศให้กับเปรต

ประเพณีกรวดน้ำนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สอนให้ พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งได้มาทำบุญเลี้ยงพระ ทรงหลั่งทักษิโณทก (กรวดน้ำ) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการ “อุทิศส่วนบุญส่วนกุศล” ให้แก่พระญาติที่ล่วงลับของพระองค์ นับตั้งแต่นั้นมา เวลาทำบุญจึงนิยมใช้การกรวดน้ำเป็นสัญลักษณ์แทนการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล

ข้อควรคำนึงถึง ในการกรวดน้ำ

๑. การกรวดน้ำมี ๒ วิธี คือ

-กรวดน้ำเปียก คือ ใช้น้ำเป็นสื่อ รินน้ำลงไปพร้อมกับอุทิศผลบุญกุศลไปด้วย
-กรวดน้ำแห้ง คือ ไม่ใช้น้ำ ใช้แต่สิบนิ้วพนมอธิษฐาน แล้วอุทิศผลบุญกุศลไปให้

กรวดน้ำ

๒. การอุทิศผลบุญมี ๒ วิธี คือ

อุทิศเจาะจง ได้แก่ การออกชื่อผู้ที่เราจะให้ท่านรับ เช่น ชื่อพ่อ แม่ ลูก หรือใครก็ได้
อุทิศไม่เจาะจง ได้แก่ การกล่าวรวมๆกันไป เช่น ญาติทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น ทางที่ถูกควรทำทั้งสองวิธี คือผู้ที่มีคุณหรือมีเวรต่อกันมาก เราก็ควรอุทิศเจาะจง ที่เหลือก็อุทิศรวมๆ

๓. น้ำกรวด

ควรเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีสีและกลิ่น และเมื่อกรวดก็ควรรินลงในที่สะอาดและไปเทในที่สะอาด และที่สำคัญ อย่ารินลงกระโถนหรือที่สกปรก

กรวดน้ำ

๔. น้ำเป็นสื่อ – ดินเป็นพยาน

การกรวดน้ำมิใช่จะอุทิศไปให้ผู้ตายกินน้ำ แต่ใช้น้ำเป็นสื่อและใช้แผ่นดินเป็นพยาน ให้รับรู้ในการอุทิศส่วนบุญ

๕. ควรกรวดน้ำตอนไหนดี ?

ควรกรวดน้ำทันทีในขณะที่พระอนุโมทนาหรือหลังทำบุญเสร็จ แต่ถ้าไม่สะดวกจะทำตอนหลังก็ได้ แต่ทำในขณะนั้นดีกว่า ด้วยเหตุผล ๒ ประการ คือ
– ถ้ามีเปรตญาติมารอรับส่วนบุญ ท่านก็ย่อมได้รับในทันที
-การรอไปกรวดที่บ้านหรือกรวดภายหลัง บางครั้งก็อาจลืมไป ผู้ที่เขาตั้งใจรับก็อด ผู้ที่เราตั้งใจจะให้ก็ชวดไปด้วย

กรวดน้ำ

๖. ควรรินน้ำตอนไหน ?

ควรเริ่มรินน้ำพร้อมกับตั้งใจอุทิศ ในขณะที่พระผู้นำเริ่มสวดว่า “ยะถาวาริวะหาปูรา…”

๗. บทกรวดน้ำเป็นภาษาไทยอย่างเดียวก็ได้ ว่า “ขออุทิศส่วนบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้วนี้ จงสำเร็จแก่ พ่อ แม่ ญาติ ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณเจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอจงได้รับส่วนบุญกุศลครั้งนี้โดยเร็วพลัน และโดยทั่วถึงกันเทอญ” ส่วนบทยาวๆ เราควรเอาไว้กรวดส่วนตัว หรือกรวดในขณะทำวัตรสวดมนต์รวมกันก็ได้

๘. อย่าทำน้ำสกปรกด้วยการเอานิ้วไปรอไว้

ควรรินให้ไหลเป็นสายไม่ขาดระยะ และไม่ควรใช้วิธี เกาะตัวกันเป็นกลุ่มหรือเป็นทางเหมือนเล่นงูกินหาง ถ้าเป็นในงานพิธีต่างๆ ให้เจ้าภาพหรือประธาน รินน้ำกรวดเพียงคนเดียวหรือคู่เดียวก็พอ คนนอกนั้นก็พนมมือตั้งใจอุทิศไปให้

ตักบาตรวันอาทิตย์ ณ ถนนสายวัฒนธรรมหน้าวัดพระหาธาตุ วรมหาวิหาร

๙.การทำบุญและอุทิศส่วนบุญ ควรสำรวมจิตใจ

อย่าให้จิตฟุ้งซ่าน ปลูกศรัทธา ความเชื่อและความเลื่อมใสให้มั่นคงในจิตใจ ผลของบุญและการอุทิศส่วนบุญย่อมมีอานิสงค์มาก ผลบุญที่เราอุทิศไปให้ ถ้าไม่มีใครมารับก็ยังคงเป็นของเราอยู่ครบถ้วน ไม่มีผู้ใดจะมาโกงหรือแย่งชิงไปได้เลย

๑๐. บุญเป็นของกายสิทธิ์

ยิ่งให้ยิ่งมาก ยิ่งตระหนี่ยิ่งน้อย ยิ่งอุทิศให้คนอื่นหมดเลยเราก็ยิ่งจะได้บุญหมดเลย
บทกรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวร

ข้าพเจ้าขออุทิศบุญกุศลจากการเจริญภาวนานี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายของ ข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าได้เคยล่วงเกินท่านไว้ ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันชาติ ท่านจะอยู่ภพใดหรือภูมิใดก็ตาม ขอให้ท่านได้รับผลบุญนี้ แล้วโปรดอโหสิกรรม และอนุโมทนาบุญแก่ข้าพเจ้าด้วยอำนาจบุญนี้ด้วยเทอญ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร