“เสียดายของ” ให้ทานแล้วไม่ได้บุญ

2109
views
ให้ทานแล้วไม่ได้บุญ

เหตุที่ให้ทานแล้วผลบุญไม่เกิดนั้นมีประเด็นอยู่อย่างเดียวก็คือ “ให้แล้วเสียดายของ” เป็นเหมือนก้อนหินเอาไว้ถ่วงบุญให้บุญไม่ได้เกิด ต่อให้ของสิ่งนั้นเป็นเงินสักยี่สิบสามสิบล้านหรือทองคำเพชรพลอยที่ถูกตีค่าว่ามีราคามากเท่าใด ก็ตาม

ทาน

มีเศรษฐีคนหนึ่งอาศัยอยู่เมืองสาวัตถี ไม่มีลูกมีเมียเศรษฐีคนนี้เป็นคนช่างตระหนี่ตัวเองเป็นคนรวยมากแต่ใช้ชีวิตยิ่งกว่ายาจก เอาปลายข้าวที่ใช้เลี้ยงสัตว์มาหุงกิน กับข้าวก็เป็นเพียงแค่ผักดอง เสื้อผ้าก็ใช้แต่ของเก่าหยาบๆ ร่มก็ใช้ใบไม้

รถที่ใช้ก็เป็นรถเก่าๆ ใครก็ตามที่เอาของดีๆ มาให้แกใช้แกไม่ใช้ ซ้ำยังต่อว่าต่อขานว่าสิ้นเปลืองเสียดายเงิน จนคนต้องหนีกันหมด ใช้ชีวิตไปอย่างน่าสงสารเช่นนี้ไปจนตาย เมื่อไม่มีลูกคอยรับมรดก ทรัพย์สินทั้งหมดจึงต้องตกเป็นของหลวง

เหล่าภิกษุได้เห็นได้ทราบถึงชื่อเสียงอันโด่งดังของยาจกในร่างเศรษฐีผู้นี้ ก็พากันสงสัยว่าทำไมหนอคนที่มีเงินมากๆ เช่นนี้จึงได้ใช้ชีวิตแร้นแค้น อดๆ อยากๆ และตระหนี่ถี่เหนียวเช่นนี้ไปจนตาย พระพุทธเจ้าจึงเล่าถึงวีรกรรมในชาติก่อนของยาจกในร่างเศรษฐีผู้นี้ว่า

คนๆ นี้เคยเกิดเป็นเศรษฐีมาหลายชาติ วันหนึ่งนั่งกินอาหารอยู่ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเดินมาบิณฑบาตมีพระนามว่า “พระคตรสิขีพุทธเจ้า” ซึ่งกำลังออกจากสมาบัติ คือผ่านการนั่งสมาธิมานานหลายวัน จิตมีความบริสุทธิ์สูง แต่ร่างกายอ่อนแอ พอเห็นพระคตรสิขีพุทธเจ้าเข้าก็เกิดความเลื่อมใส จึงสั่งให้ภรรยาเอาอาหารมาถวาย

ทาน

แต่เผอิญว่า กลิ่นของอาหารที่ภรรยาปรุงจะถวายให้เป็นอาหารอย่างดีที่สุดที่เคยมี ทำให้เกิดความเสียดายน่าจะเอาไว้กินเองมากกว่าหรือไม่ก็ให้คนรับใช้กินดีกว่าอย่างน้อย คนใช้ก็ยังทำงานให้ตนเองได้ จึงไม่ได้ถวายทานในครั้งนั้น

ความตั้งใจที่จะถวายทานในครั้งนั้นส่งผลให้เศรษฐีไปเกิดในสวรรค์ถึง ๗ ครั้งและเกิดในตระกูลเศรษฐีอีก ๗ ครั้ง แต่เพราะมีเหตุที่จิตดันคิดเสียดายทานภายหลัง ทำให้ในชาตินี้จึงไม่ปรารถนาจะรับของประณีตใดๆ ไม่มีจิตจะรับอาหารดีๆ ไม่มีใจจะใช้รถใหม่ และไม่มีใจจะอยากได้ในของดีใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยผลแห่งจิตที่คิดเสียดายทานนั้นเอง

ส่วนวิบากกรรมที่ทำให้ไม่มีบุตรหลานก็เพราะ ในชาตินั้นเคยฆ่าหลานชาย เพื่อต้องการจะครอบครองทรัพย์สมบัติไว้คนเดียว ชาตินี้จึงไม่มีบุตรสืบสกุล ทำให้ชีวิตไร้ผู้สืบทอดมรดก และทรัพย์สมบัติก็ต้องถูกยึดเข้าคลังหลวงมาแล้วอีกถึง ๗ ครั้ง

“ให้แบบไม่เต็มใจ”

อาการให้แบบไม่เต็มใจ เป็นอีกอาการหนึ่งที่ทำให้บุญไม่เกิดซ้ำยังจะได้บาปอีก ลองนึกภาพเวลาที่เรากำลังเดือดร้อนแล้วไปขอความช่วยเหลือจากคนๆ หนึ่ง เขาไม่อยากช่วย หรือจะให้อะไรเรามาก็ให้แบบไม่เต็มใจ เช่น ขอยืมใช้ยางลบจากเพื่อน แต่เพื่อนกลับไม่ให้หรือให้แบบไม่อยากจะให้

ทาน

จิตของเราย่อมรู้สึกได้ว่าเขาไม่เต็มใจให้ ก็ยืมกันได้เพียงครั้งเดียวแล้วก็จบ นี่กรณีเบื้องต้น จะส่งผลให้จิตของทั้งสองฝ่ายคิดลบต่อกัน ไม่อยากช่วยเหลือเกื้อกูลกันอีก ไม่อยากสร้างคุณงามความดีให้แก่กัน หรือกระทั่งกลายเป็นศัตรูก็ย่อมได้

หากเป็นกรณีการให้เงินเป็นทาน สมมติว่าเรามีความตั้งใจยินดีที่จะบริจาคทาน ๑๐ บาท แต่มีคนมาบอกว่า ๑๐ บาทน้อยไปให้เป็น ๒๐ บาทเถอะ บุญที่จะได้เต็มที่ก็คือ บุญที่เกิดจากการถวายเงินแค่ ๑๐ บาทแรก ส่วน ๑๐ บาทหลังจะไม่ได้บุญ เพราะเรารู้สึกไม่ค่อยเต็มใจให้

การให้อย่างไม่เต็มใจนั้น ต่อให้ได้บริจาคเงินเป็นแสนเป็นล้าน แต่มีความรู้สึกไม่อยากให้ก็สู้เงินจำนวนเพียงบาทเดียวแต่บริจาคไปแล้วจิตมีความสุขไม่ได้ เหมือนเอาข้าวสวยร้อนๆ หอมๆ ไปโยนทิ้งน้ำเสียอย่างนั้นเอง

ในสมัยพุทธกาลก็มีตัวอย่างเรื่องผลแห่งการให้ทานอย่างไม่เต็มใจมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

ณ กรุงราชคฤห์ มีชายหนุ่มคนหนึ่งเดินแบกอ้อยมาตามถนนพร้อมกับถืออ้อยกินไปด้วยอย่างสบายอารมณ์ และมีอุบาสกคนหนึ่งเดินจูงเด็กน้อยตามหลังชายหนุ่มแบกอ้อยไปด้วย เด็กเห็นชายหนุ่มกัดกินอ้อยอย่างเอร็ดอร่อยก็ ร้องอยากจะกินบ้าง

พระพุทธ

ทำให้อุบาสกกล่าวขอแบ่งอ้อยจากชายหนุ่มคนนั้น ซึ่งตอนแรกก็ทำเป็นไม่สนใจ แต่พอเด็กร้องไห้หนักขึ้นก็เลยต้องให้อ้อยไปอย่างเสียไม่ได้ โดยหักอ้อยไปท่อนหนึ่งแล้วขว้างไปให้อุบาสกไปตามเก็บ

เพียงแค่กรรมที่ดูเหมือนจะเล็กน้อยนี้แต่มีผลใหญ่ เพราะความตระหนี่ถี่เหนียวนี้เป็นเหตุทำให้เขาต้องไปเกิดเป็นเปรตด้วยวิสัยขี้งก และบาปกรรมที่ได้กระทำต่อเด็กน้อยและอุบาสกคนนั้น จึงเกิดเป็นไร่อ้อยแน่นหนา พอจะเข้าไปหักอ้อยมากินก็ถูกใบอ้อยเชือดเฉือนเป็นอาวุธมีคม และท่อนอ้อยก็จะตีจนสลบ

วันหนึ่งเปรตตนนี้เห็นพระโมคคัลลานะเดินผ่านมาเพื่อไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ จึงได้ถามถึงกรรมที่ตนเองทำไว้และพยายามขอร้องให้ท่านช่วย ท่านโมคคัลลานะจึงแนะนำให้เดินถอยหลังเข้าไปจึงจะหักอ้อยกินได้ เปรตทำตามก็สามารถหักอ้อยกินได้ และยังได้หักอ้อยมาแบ่งถวายพระโมคคัลลานะด้วย

พระโมคคัลลานะคิดจะสงเคราะห์ช่วยเหลือเปรตจึงให้เปรตตนนั้นแบกมัดอ้อยไปจนถึงวัดพระเวฬุวันให้เปรตได้ถวายอ้อยแก่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าและภิกษุทั้งหลายได้ฉันอ้อยแล้วก็อนุโมทนาบุญ

พระโมคคาลานะ เสด็จโปรดมารดา

เปรตก็มีจิตน้อมเลื่อมใส ถวายนมัสการลากลับ ตั้งแต่นั้นมาเปรตก็สามารถไปหักกินอ้อยได้สบาย พอตายจากสภาพที่เป็นเปรตแล้วก็กลายเป็นเทวดาอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรื่องของเปรตตนนี้ให้สาธุชนทั้งหลายฟัง เพื่อให้ผู้คนได้ละเว้นซึ่งความตระหนี่หมั่นบริจาคทานเพื่อชะล้างจิตใจให้ใสสะอาด เพียงแค่จิตคิดตระหนี่และสร้างวิบากกรรมเพียงเล็กน้อย ยังต้องไปเกิดเป็นเปรตอย่างนี้ ถ้าหากมีจิตตระหนี่ถี่เหนียวมากๆ

สะสมอยู่ในสันดานคงต้องรับผลวิบากกรรมหนักยิ่งกว่าที่เป็นดังในตัวอย่างนี้แน่นอน ดังนั้น “การให้” ใดๆ ก็ตามหากจะเป็นการให้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์จริง ก็ควรเป็นการกระทำที่ทำอย่างเต็มใจทำ จึงจะเกิดผลบุญสูงสุด

by // torthammarak