พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต แจ็คแมน) จากอดีตนาวิกโยธินอเมริกาสู่ชีวิตสมณะ

2173
views
พระอาจารย์โรเบิร์ต สุเมโธ

พระอาจารย์สุเมโธ (โรเบิร์ต แจ็คแมน) เกิดในเมืองซีแอตเติ้ล มลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1934 (พ.ศ 2477) เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ท่านได้เข้ารับราชการในกองทัพเรือแห่งสหรัฐอเมริกา ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และได้เข้าร่วมปฏิบัติการในสงครามเกาหลี เมื่อออกจากราชการท่านก็ได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในสาขาวิชาเอเชียใต้ศึกษา (South Asian Studies) มหาวิทยาลัย แห่งแคลิฟอร์เนีย (เบิร์กเลย์) ในปี 1963 (พ.ศ. 2506)

หลังจากนั้นได้ร่วมงานเป็นระยะเวลาสั้น ๆ กับสภากาชาดอเมริกัน ก็ได้เดินทางไปยังแถบตะวันออกไกล และทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ กับหน่วยสันติภาพ (Peace Corp) ซาบาห์ บนเกาะบอร์เนียว ด้วยความที่ท่านสนใจในพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้เดินทางมายังประเทศไทยในปี 1966 (พ.ศ. 2509) เพื่อหาทางเข้าสู่ชีวิตอนาคาริก (ผู้ไม่ครองเรือน) ท่านได้บวชเป็นสามเณรที่จังหวัดหนองคายและอุปสมบทเป็นพระภิกษุในอีกหนึ่งปีต่อมา โดยมีท่านเจ้าคุณพระราชปรีชาญานมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์

พระอาจารย์สุเมโธ

ไม่ช้านานหลังจากที่ท่านได้บวชเป็นพระภิกษุ ในปี พ.ศ. 2510 ท่านอาจารย์สุเมโธ ได้ยินกิติศัพท์ความเคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติของท่านพระอาจารย์ชา (สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ท่านจึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ของท่านที่จังหวัดหนองคาย เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อชา ซึ่งท่านได้เมตตารับไว้ แต่ตั้งเงื่อนไขว่า…

“ท่านจะมาอยู่กับผมก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าผมจะไม่หาอะไรมาบำรุงท่านให้ได้ตามอยาก ท่านต้องทำตามระเบียบข้อวัตร เหมือนที่พระเณรไทยเขาทำ”

ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ป่าพง ท่านอาจารย์สุเมโธได้รับการฝึกฝนเคี่ยวเข็ญด้วยอุบายต่าง ๆ จากหลวงพ่อชา ท่านเล่าให้ฟังว่า
“บางครั้งหลวงพ่อจะดุหรือตักเตือนผมในที่สาธารณะ ทำให้ผมอายมาก บางครั้งท่านเล่า ให้โยมทั้งศาลาฟังเรื่องที่ผมทำไม่สวย ไม่งาม เช่น การฉันข้าวด้วยมือเปล่าแต่เปิบไม่เป็น ขยุ้ม อาหารขึ้นมาเต็มกำมือแล้วโปะใส่ปาก ใส่จมูกเลอะเทอะไปทั้งหน้า พระเณรและโยมหัวเราะกัน ลั่นศาลา ผมนั้นทั้งโกรธทั้งอาย แต่ก็ทนได้ และพิจารณาว่า นี่เป็นความกรุณาของหลวงพ่อที่ช่วย เปิดเผยความเย่อหยิ่งของผม ซึ่งมันเป็นจุดบอดที่เรามักจะมองไม่เห็น และยังเป็นอุบายที่ท่านจะ ทดสอบอารมณ์เราว่า มีพื้นฐานที่จะรองรับธรรมะได้มากน้อยแค่ไหน…

พระราชสุเมธาจารย์

“ทุกเช้าเวลาหลวงพ่อกลับจากบิณฑบาต จะมีพระเณรหลายองค์ไปรอล้างเท้าท่าน ระยะ แรก ๆ ที่ผมไปอยู่วัดป่าพง เห็นกิจวัตรนี้ทีไร ก็นึกค่อนขอดพระเณรเหล่านั้นอยู่ในใจ แต่พออยู่นาน เข้า ผมก็เป็นไปด้วย เช้าวันหนึ่งก่อนที่ผมจะรู้ตัวว่าเป็นอะไร ผมก็ปราดเข้าไปอยู่หน้าพระเณรองค์ อื่นเสียแล้ว ขณะก้มลงล้างเท้าถวายท่าน ผมได้ยินเสียงนุ่ม ๆ กลั้วเสียงหัวเราะของหลวงพ่อว่า “สุเมโธ ยอมแล้วเหรอ…”

“เช้าวันหนึ่ง ผมกำลังกวาดใบไม้ที่ลานวัด อารมณ์ไม่ดี รู้สึกหงุดหงิดขัดเคือง และรู้สึกว่า ตั้งแต่มาอยู่ที่วัดป่าพงเจอแต่ทุกข์ พอดีหลวงพ่อเดินตรงมายังผม ท่านยิ้มให้พร้อมกับพูดว่า “วัด ป่าพงทุกข์มาก!” แล้วท่านก็เดินกลับไป ผมสงสัยว่าทำไมหลวงพ่อพูดอย่างนี้ กลับไปกุฏิ พิจารณา ได้สติว่า ทุกข์ไม่ได้เกิดจากวัดป่าพง แต่เกิดจากจิตใจเราเอง…”

ต่อมาปี พ.ศ. 2513 ได้มีชาวอเมริกันอีกสองคนเข้ามาบวชที่วัดหนองป่าพง แต่อยู่ได้ราว หนึ่งปีทั้งคู่ก็ลาสิกขาไป คนหนึ่งเป็นนักเขียนได้จดบันทึกคำสอนของหลวงพ่อ แล้วนำไปพิมพ์ เผยแพร่ ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างประเทศยิ่งขึ้น ส่วนอีกคนเป็นนักจิตวิทยา ชอบวิพากษ์ครูบาอาจารย์ต่าง ๆ เว้นไว้แต่หลวงพ่อองค์เดียวที่เขาเคารพเทิดทูนมาก หลังลาสิกขาบท เมื่อได้พบชาวต่างประเทศที่กำลังแสวงหาครูอาจารย์ เขามักแนะนำให้มาพบกับ หลวงพ่อ ทำให้พระฝรั่งในวัดหนองป่าพงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆผู้คนที่มาวัดหนองป่าพง ต่างทึ่งที่เห็นพระฝรั่งปฏิบัติกรรมฐานเคร่งครัดอยู่เคียงข้างกับ พระไทย จึงเกิดความสงสัยว่า หลวงพ่อสอนชาวต่างประเทศได้อย่างไร ในเมื่อท่านไม่คุ้นเคยกับ ภาษาอังกฤษ และลูกศิษย์ฝรั่งเองก็ไม่คุ้นเคยภาษาไทย หลวงพ่อชี้แจงว่า

พระราชสุเมธาจารย์

“ที่บ้านโยมมีสัตว์เลี้ยงหรือเปล่า อย่างหมา แมว หรือวัวควายอย่างนี้ เวลาฝึกหัดมัน โยม ต้องรู้ภาษาของมันด้วยไหม?…”ถึงแม้มีลูกศิษย์เมืองนอกมาอยู่ด้วยมาก ๆ อย่างนี้ ก็ไม่ได้เทศน์ให้เขาฟังมากนัก พาเขา ทำเอาเลย ทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู เมื่อเขาทำจริง ๆ ก็เลยได้ดี เขาก็เลย เชื่อ…”

ครั้งหนึ่งเมื่อถูกถามปัญหาเช่นนี้ ท่านตอบแบบขำ ๆ ว่า “ไม่ยากหรอกดึงไปดึงมาเหมือน ควาย เดี๋ยวมันก็เป็นเท่านั้นแหละ” ศิษย์ชาวออสเตรเลี่ยนรูปหนึ่งเล่าถึงบทเรียนอันดุเดือดว่า

“วันหนึ่งผมมีเรื่องขัดใจกับพระรูปหนึ่ง รู้สึกโกรธ หงุดหงิดอยู่ทั้งวัน รุ่งเช้าไปบิณฑบาต ก็เดินคิดไปตลอดทาง ขากลับเดินเข้าวัดพอดีสวนทางกับหลวงพ่อ ท่านยิ้มและทักผมว่า “กู๊ด มอร์นิ่ง” ซึ่งทำให้อารมณ์ของผมเปลี่ยนทันที จากความหงุดหงิดกลายเป็นปลื้มทันที

ถึงเวลาสวดมนต์ทำวัตรเย็น หลวงพ่อให้ผมเข้าไปอุปัฏฐาก ถวายการนวดที่กุฏิของท่าน ผมรู้สึกตื่นเต้นดีใจมากกับโอกาสที่หาได้ยากเช่นนั้น เพราะเราเป็นพระใหม่ แต่ขณะที่กำลังถวาย การนวดอยู่อย่างตั้งใจ หลวงพ่อก็ถีบเปรี้ยงเข้าที่ยอดอกที่กำลังพองโตของผมจนล้มก้นกระแทกพื้น ท่านดุใหญ่เลยว่า “จิตไม่มั่นคง พอไม่ได้ดังใจก็หงุดหงิดขัดเคือง เมื่อได้ตามปรารถนาก็ ฟูฟ่อง” ผมฟังท่านดุไปหลาย ๆ อย่างแล้ว ก็ไม่โกรธและไม่เสียใจ รู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของท่าน ที่ช่วยชี้ กิเลสของเรา ไม่เช่นนั้น เราคงเป็นคนหลงอารมณ์ไปอีกนาน…”

พระราชสุเมธาจารย์

นอกจากจริยาวัตรอันงดงามของหลวงพ่อแล้ว บรรยากาศของวัดหนองป่าพงและกิริยา มารยาทของพระเณร ยังเป็นแรงดลใจให้ผู้มาพบเห็นเกิดความศรัทธาอย่างยิ่ง ดังท่านอาจารย์ ชาวต่างชาติรูปหนึ่งเล่าว่า”พอผ่านเข้าประตูวัดหนองป่าพงเป็นครั้งแรก ก็เกิดความประหลาดใจ และความประทับใจ ก็เกิดขึ้น เมื่อเห็นบริเวณสถานที่ แม้จะเป็นป่ามีต้นไม้หนาแน่น แต่ทางเดินก็ดูสะอาด ไม่มีอะไร เกะกะสายตา

จากนั้นก็ไปเห็นกุฏิศาลาสะอาดเรียบร้อยที่สุด รู้สึกว่าวัดหนองป่าพงนี่ ระเบียบวินัยดี มากจริง ๆ พอตกตอนเย็นเห็นพระเณรออกมาทำกิจ ท่านเรียบร้อยดี มีกิริยาสำรวมไม่ตื่นเต้น อะไรเลย ผมเคยไปวัดอื่น พอพระเณรเห็นพวกฝรั่งก็ปรี่เข้าหา เข้ามาพูดภาษาอังกฤษ ถามรู้เรื่อง บ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ทำเหมือนกับว่า พวกฝรั่งมีอะไรดีอย่างนั้น…แต่ที่วัดหนองป่าพง บรรดาพระสงฆ์ ญาติโยม ผ้าขาว แม่ชี ไม่เห็นมีใครสนใจกับฝรั่ง อย่างผม ท่านนั่งก็สำรวม เดินก็สำรวม มีกิจอะไรต้องทำก็ทำไป ถามก็เงยหน้ามาพูดด้วย ไม่มี อาการตื่นเต้นอะไรเลย มีความรู้สึกว่า ท่านเหล่านี้ต้องมีของดีแน่ เกิดศรัทธาขึ้นมาก…”

เจ็ดพรรษาผ่านไป ท่านสุเมโธได้รับอนุญาตให้ไปไหนมาไหนได้ตามลำพัง ในปี พ.ศ. 2510 ท่านจึงเดินทางไปยังประเทศอินเดีย จาริกไปตามที่ต่างๆ เป็นเวลาห้าเดือน ปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด ถือธุดงค์วัตร ไม่รับเงิน ไม่สะสมอาหาร ฉันมื้อเดียวก่อนเที่ยง และฉันในบาตร อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ในประเทศอินเดียกระตุ้นให้ท่านสุเมโธกลับ มาอยู่กับท่านอาจารย์อีก อุทิศกายใจและรับใช้ท่านอาจารย์ต่อไป ไม่ปรากฏเป็นหลักฐานว่าท่านอาจารย์ชาท่านมีปฏิกิริยาต่อกรณีย์นี้อย่างไร อาจจะเป็นเพียงยิ้มน้อยๆ เท่านั้น แต่ในพรรษาที่แปด ท่านสุเมโธได้รับมอบหมายให้ไปจัดตั้งวัดสาขาอีกแห่งหนึ่ง เฉพาะ สำหรับพระภิกษุชาวตะวันตก ณ ป่าช้าแห่งหนึ่งในตำบลบุ่งหวาย ไม่ไกลจากวัดหนอง ป่าพงเท่าใดนัก

พระอาจารย์สุเมโธ

เวลาผ่านไปพร้อมกับอุปสรรคเล็กๆน้อยๆ ในที่สุดท่านสุเมโธก็ได้เป็นหัวหน้า สงฆ์ที่วัดนั้น และได้พัฒนาวัดจนเป็นที่นิยมของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ตลอดจนผู้คน จากที่ต่างๆ เช่นจากกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เขาเหล่านั้นสนใจมากที่เห็นชาว ตะวันตกยอมสละถิ่นฐาน ทรัพย์สมบัติ ความสุขสบาย ตลอดจนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในยุโรปและอเมริกา มาใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากแบบนักพรต หรือฤๅษีในชนบทที่กันดารของประเทศไทย อย่างไรก็ดี วัดป่านานาชาติแห่งนี้ได้เจริญมาเป็นลำดับ มีผู้คนมาให้ความสนับสนถุน และจำนวนพระภิกษุก็เพิ่มขึ้น

ปีพ.ศ. 2518 จำนวนศิษย์ชาวต่างประเทศในวัดหนองป่าพงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลวงพ่อจึงตั้ง วัดป่านานาชาติขึ้นที่ป่าช้าบ้านบุ่งหวาย ซึ่งอยู่ห่างจากวัดหนองป่าพงราว 7-8 กิโลเมตร เพื่อปู พื้นฐานให้พระชาวต่างชาติได้รู้จักปกครองกันเอง โดยมอบให้ท่านอาจารย์สุเมโธดูแลประธานสงฆ์วัดป่านานาชาติในสมัยแรก ประสบปัญหาในการปกครองหมู่คณะมาก เพราะ คนฝรั่งมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และกล้าแสดงออก จึงสร้างปัญหาให้ประธานสงฆ์ต้องเป็นทุกข์ เสมอ เมื่อเรื่องถึงหลวงพ่อท่านจะแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายละวางทิฐิมานะ ให้ปรับปรุงตัวเองให้ดี ขึ้น สำหรับประธานสงฆ์ หลวงพ่อจะแนะนำวิธีปกครองให้ว่า

“ถ้าลูกศิษย์ของเรามีเรื่องขัดแย้งกัน ก็ให้พิจารณาให้ดี อย่าตัดสินว่าผู้มาใหม่ไม่ดี อย่าไปว่าคนนั้นดี คนนี้ไม่ดี ต้องใช้เวลาดูไปนาน ๆ ก่อน ดุอุปนิสัยของเขาไปนาน ๆ อย่าไปคิดว่า ดีหรือไม่ดีเลยทันที เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ แน่นอน ต้องใช้เวลาดูไปก่อน…”
ศิษย์ชาวต่างประเทศ ต่างเคารพปัญญาบารมีของหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง ท่านเต็มไปด้วย เมตตาธรรม และอารมณ์ขัน เบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิจ มีความสามารถพิเศษในการสื่อสาร และ แก้ปัญหาแก่ศิษย์ได้อย่างดีเยี่ยม ชาวต่างประเทศจึงเกิดศรัทธาเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมที่ วัดหนองป่าพงและวัดป่านานาชาติ เป็นจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ

พระอาจารย์สุเมโธ

ในพรรษาที่สิบ ปี พ.ศ. 2519 ท่านอาจารย์สุเมโธ ได้รับอนุญาตให้ไปเยี่ยม โยมบิดามารดาที่สหรัฐอเมริกา ขากลับได้มาแวะที่กรุงลอนดอน เดิมทีท่านจะขอเข้าพัก ที่วัดพุทธประทีป ที่วิมเบิลดัน แต่ที่วัดไม่มีที่ให้พัก ท่านจึงติดต่อกับนายยอร์ช ชาร์ป ประธานมูลนิธิสงฆ์อังกฤษและเป็นผู้ดูแลพุทธวิหารในแฮมสเตด ท่านประธานฯ จึงจัด ให้พักที่พุทธวิหารแห่งนั้นเป็นการชั่วคราวขณะพักอยู่ที่พุทธวิหารแห่งนั้น สมาชิกมูลนิธิกิจการสงฆ์แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้จัดตั้ง พุทธวิหาร ได้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาของท่านอาจารย์สุเมโธ จึงนิมนต์ให้ท่านพำนักอยู่ เพื่อเป็นผู้นำในการประพฤติปฏิบัติ ท่านอาจารย์สุเมโธไม่ได้ตอบรับคำ แต่ได้ชี้แจงว่าจะนำ เรื่องนี้ไปกราบเรียนหลวงพ่อชา ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์เสียก่อน

ดังนั้น เมื่อท่านสุเมโธกลับไปแล้ว หลังจากนั้นไม่นาน ประธานมูลนิธิฯ คือนายยอร์ช ชาร์ป ก็เดินทางไปยังประเทศไทย เพื่อ นิมนต์พระสงฆ์ไปเผยแผ่พุทธธรรม และพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสำนักสาขาใน ประเทศอังกฤษ และได้เดินทางไปยังวัดป่าทางภาคอีสาน ติดต่อกับสองสำนักพระอาจารย์ใหญ่ คือท่านอาจารย์ มหาบัว และท่านอาจารย์ชา เพื่อขอให้ส่งลูกศิษย์ซึ่งเป็นพระป่าไปอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ สำหรับท่านอาจารย์มหาบัวนั้นเคยไปเยี่ยมที่พุทธวิหารแฮมสเตดมาแล้ว คงได้เห็นความ ยุ่งยากนานาประการในประเทศที่ผู้คนยังไม่เข้าใจในระเบียบปฏิบัติของพระสงฆ์ ทั้งยัง ไม่แจ่มแจ้งในความสัมพันธ์ระหว่างสงฆ์กับฆราวาส อีกทั้งพุทธวิหารนั้นเล่าก็เป็นเพียง ทาวน์เฮาส์เล็กๆ อยู่ตรงข้ามกับร้านขายเหล้า ตั้งอยู่บนถนนใหญ่ในย่านจอแจของกรุง ลอนดอน ไม่เหมาะที่พระป่าจะไปอาศัยอยู่ ท่านจึงลังเลใจ

ส่วนหลวงพ่อชา ท่านไม่ได้รับนิมนต์ทันที แต่อนุญาตให้ประธานมูลนิธิฯ พำนักอยู่ที่วัดหนองป่าพง ระยะหนึ่ง โดยให้ปฏิบัติตนเหมือนคนวัด คือ พักที่ศาลา กินข้าวในกะละมังวันละมื้อ และทำ กิจวัตรเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ เพื่อให้ทำความเข้าใจในความเป็นอยู่ของพระป่า รวมทั้งเพื่อทดสอบ ดูความอดทนและความจริงใจกันก่อน เมื่อพิจารณาเห็นว่ามีเจตนามุ่งมันจริง หลวงพ่อจึงรับ นิมนต์จากประธานมูลนิธิฯ นั้น

พระอาจารย์สุเมโธ

5 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 หลวงพ่อชาได้เดินทางไปเผยแผ่พุทธธรรมที่ประเทศอังกฤษ โดยมี ท่านอาจารย์สุเมโธ เป็นผู้ติดตาม ในการมาเยือนครั้งนั้น ท่านอาจารย์ชาได้บันทึกไว้ในสมุดบันทึกด้วยลายมือของท่าน ดังได้ คัดมาบางตอนว่า
“15 พฤษภาคม 2520 วันนี้ประมาณ 7 โมงเช้า เราได้นั่งอยู่ในที่สงบเงียบจึงได้เกิดความรู้ ในการภาวนาหลายอย่าง เราจึงได้หยิบเอาสมุดปากกาขึ้นมาบันทึกไว้ภายในวิหารธรรมประทีป ด้วยความเงียบสงบ ธรรมะที่เกิดขึ้นนี้เราเรียกว่า “มโนธรรม” เพราะเกิดขึ้นด้วยการปรากฏในส่วนลึกของใจว่า การที่มาบวชเจริญรอยตามพระพุทธองค์นั้นเรายังไม่ได้ทำอะไร ๆ ได้เต็มที่ เพราะยังบกพร่องอยู่ หลายประการอันเกี่ยวแก่พุทธศาสนาคือ หนึ่งสถานที่ สองบุคคล สามกาลเวลา เราจึงได้คิดไปอีก ว่าเมื่อสร้างประโยชน์ตนได้เป็นที่พอใจแล้ว ให้สร้างประโยชน์บุคคลอื่น จึงจะได้ชื่อว่า กระทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

ดังนั้นจึงมีความเห็นว่า กรุงลอนดอนนี้แห่งหนึ่งจัดเรียกได้ว่าเป็นปฏิรูปเทศ คือประเทศ อันสมควรในการที่จะประกาศพระศาสนา จึงได้จัดให้ศิษย์ฝรั่งอยู่ประจำเพื่อดำเนินงาน พระศาสนาต่อไป

วิธีสอนธรรมนั้นให้เป็นไปในทำนองที่ว่า ทำน้อยได้มาก ทำมากได้น้อย ให้เห็นว่าความเย็น อยู่ในความร้อน ความร้อนอยู่ในความเย็น ความผิดอยู่ในความถูก ความถูกอยู่ในความผิด ความสุขอยู่ในที่ความทุกข์ ความทุกข์อยู่ที่ความสุข ความน้อยอยู่ที่ความใหญ่ ความใหญ่อยู่ที่ ความน้อย สกปรกอยู่ที่สะอาด สะอาดอยู่ที่สกปรก อย่างนี้เสมอไป นี้เรียกว่า สัจธรรม หรือ สัจศาสตร์”
เมื่อท่านกลับไป ท่านจึงให้ท่านสุเมโธกับศิษย์พระฝรั่งอีกสามรูปอยู่ต่อไปที่แฮมสเตด โดยมีเงื่อนไขว่า มูลนิธิฯ ต้องจัดหาสถานที่ๆ เป็นป่าอันเหมาะสม ให้ลูกศิษย์ของท่านอาศัยปฏิบัติธรรม และเผยแพร่พระศาสนาต่อไป

พระอาจารย์สุเมโธ

ในปีแรกนั้น มีแต่ความทุกข์ยากเป็นอันมาก ลองนึกภาพดูก็จะเห็นได้ว่า “พระภิกษุนั้น แม้ท่านจะเป็นพระฝรั่ง แต่ท่านมาจากวัดหนองป่าพง ซึ่งเป็น “วัดป่า” ท่านเคยชินกับการอยู่ป่า อันเป็นที่วิเวก ร่มรื่น ปลอดโปร่ง ห่างไกลจากผู้คนและสิ่ง รบกวนจากภายนอก ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนเคารพกราบไหว้ และนำของมาถวาย แต่แล้วเอาท่านมาอยู่ในห้องแคบๆ อับๆ ในย่านจอแจของเมืองหลวงใกล้กับร้านขายเหล้า

อีกทั้งสภาพอากาศในบางฤดูของกรุงลอนดอนก็ย่ำแย่ เวลาออกบิณฑบาตก็ไม่มีคนใส่ บาตร บางครั้งยังมีคนมาพูดจาดูหมิ่นถากถาง หาว่าเป็นขอทาน เป็นต้น ประกอบกับ ในคณะกรรมการมูลนิธิฯ เองที่นิมนต์ท่านมา ก็มีความขัดแย้งกันในเรื่องการหาสถานที่ อันเหมาะสม และบทบาทของพระสงฆ์ซึ่งควรจะปรับอย่างไรให้เข้ากับสภาพสังคมของ คนอังกฤษ เกิดความสับสนจนบางคนคิดว่า ในประเทศเช่นนี้ บางทีพระอาจจะไม่ เหมาะที่จะไปอยู่ในป่า ดังนี้แล้ว จึงเห็นได้ว่า เป็นระยะเวลาที่มีแต่ความยุ่งยากลำบาก มาก บุคคลทั่วไปอาจเกิดความท้อแท้ได้ง่ายๆ อย่างไรก็ดี ท่านสุเมโธกับคณะผู้ได้รับ การฝึกให้มีความอดทนและตั้งมั่นอยู่ในพระวินัย ก็สามารถอยู่ต่อไปด้วยความสงบ อาจ “ถือได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่ท่านใช้ฝึกขันติธรรมและการ “ปล่อยวาง” ไปด้วยในตัว”

กิจวัตรประจำวันของพระภิกษุคงดำเนินไปตามแบบที่เคยปฏิบัติอยู่ในเมืองไทย เช่นสวดมนต์เช้า-เย็น สนทนาธรรมและแนะนำการฝึกกรรมฐาน แก่ผู้ที่สนใจสมัครมา รับการฝึก ณ พระวิหารแห่งนั้น ออกบิณฑบาตทุกเช้าแม้จะไม่ได้อาหาร ท่านอาจารย์ ชาเคยสอนว่า การออกบิณฑบาตนั้น มิใช่มุ่งจะเอาแต่ “อาหาร” แต่มุ่งเอา “คน” หมายความว่า ในการออกเดินไปตามถนน อาจมีบางคนที่เขาสนใจอยากจะรู้ จะเข้ามา ทักทายสอบถามว่าเป็นใคร มาทำอะไรที่นี้ นับถือศาสนาอะไร เป็นต้น ก็จะเป็นโอกาส ได้ชี้แจงให้เข้าใจพอสมควร และจะได้เชื้อเชิญให้มาฟังคำอธิบายอย่างละเอียด และฝึกกรรมฐานที่พระวิหารต่อไป

ในฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ.2521 มีสิ่งอัศจรรย์อย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือเช้าวันหนึ่ง ท่านสุเมโธออกบิณฑบาตอันเป็นกิจวัตรของท่าน แถวแฮมสเตดฮีธ ไปเจอกับนักวิ่งออก กำลังกายผู้หนึ่ง นักวิ่งผู้นี้เกิดประทับใจในท่าทางของพระภิกษุ จึงเข้ามาสนทนาด้วย ท่านผู้นี้ได้ซื้อป่าไว้แห่งหนึ่ง ชื่อว่า แฮมเมอรวูด อยู่ในแคว้นซัสเซกส์ เนื้อที่ประมาณ 370 ไร่ โดยตั้งใจจะบำรุงรักษาให้คงสภาพป่าอย่างสมัยก่อน แต่ท่านก็เข้าใจดีว่า งานเช่นนี้เหลือกำลังที่คนๆ เดียวจะทำได้ แม้ท่านจะไม่ได้เป็นพุทธศาสนิกชน ท่านก็ มีใจกว้างพอที่จะเล็งเห็นว่าพระภิกษุคณะนี้ น่าจะเป็นผู้ดูแลรักษาป่าได้เป็นอย่างดี

พระราชสุเมธาจารย์

ท่านสมัครเข้ารับการฝึกกรรมฐานที่ท่านสุเมโธจัดขึ้นที่ศูนย์พุทธศาสนาโอ็คเคนโฮลท์ ใกล้เมืองอ๊อกฟอร์ด แล้วในที่สุด ท่านก็ยกป่าแห่งนี้ให้แก่คณะสงฆ์ ถือได้ว่า สถานที่ๆ จะเป็นวัดป่าในประเทศอังกฤษได้ก่อกำเนิดขึ้นแล้ว ณ บัดนั้น
แม้จะได้ป่ามาแล้วก็เข้าไปอยู่ไม่ได้ เพราะยังติดขัดด้วยกฎหมายของประเทศอังกฤษ ที่ห้ามไม่ให้สร้างอาคารถาวรขึ้นในป่า ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2521 ท่านสุเมโธและ คณะจึงต้องจำพรรษา ณ ศูนย์พุทธศาสนาที่โอ็คเคนโฮลท์ และปล่อยให้คณะกรรมการ มูลนิธิฯ แก้ปัญหาต่อไป

ต้นปี พ.ศ. 2522 ท่านอาจารย์ชาเดินทางมาประเทศอังกฤษ เพื่อจะดูความ เป็นอยู่ของลูกศิษย์ของท่าน พอดีในช่วงนั้น นายยอร์ช ชาร์ป ได้ข่าวการบอกขายบ้านใหญ่หลังหนึ่ง ใกล้ๆ กับป่าแฮมเมอร์วูด บ้านหลังนี้มีชื่อว่า บ้านชิตเฮิสต์ การซื้อบ้าน หลังนี้เป็นการเสี่ยงมาก จึงยังไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ในคณะกรรมการฯ เพราะเงินที่จะ ซื้อบ้านนั้น จะต้องได้มาจากการขายพุทธวิหาร และทาวน์เฮาส์ใกล้เคียง ซึ่งได้ค่าเช่าเป็นประจำมาเป็นค่าใช้จ่ายของมูลนิธิฯ ประกอบกับบ้านหลังนี้ทรุดโทรมมาก ไม่แน่ใจ ว่าจะเข้าไปอยู่ได้หรือไม่ มีการถกเถียงกันอยู่ เมื่อท่านอาจารย์ชามาเห็นสภาพการณ์ เช่นนั้น ท่านก็ปรารภว่า ท่านเห็นจะต้องนำลูกศิษย์ของท่านกลับเมืองไทย ท่านปรารภ แล้วท่านก็เดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกา ในที่สุด มูลนิธิฯ ก็ตัดสินใจซื้อบ้านชิตเฮิสต์ และในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2522 ได้รวบรวมข้าวของขนใส่รถ เดินทางออกจาก กรุงลอนดอน มุ่งสู่ซัสเซกส์

บ้านชิตเฮิสต์ ทรุดโทรมจริง ๆ ชำรุดเสียหายจนไม่สามารถเข้าไปอยู่ได้ เมื่อ เข้าไปดูครั้งแรก ปรากฏว่าในจำนวนห้องทั้งหมดประมาณยี่สิบห้องนั้น ที่จะซ่อมแซม ให้พอใช้การได้มีเพียงสี่ห้องเท่านั้น ไฟฟ้าก็ไม่มี หลังคารั่ว พื้นผุพัง ท่อน้ำแตก น้ำไหลเปรอะผนังตึก กัดผนังกร่อนเป็นแถบๆ มีสัพเพเหระเก่าๆ สมัยก่อนสงครามโลก ทับถมอยู่เต็มภายในบ้าน อาคารภายนอกหลังเล็กหลังน้อยก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมใช้การ ไม่ได้เลย หญ้าขึ้นรกเป็นป่า มีรถยนต์ผุๆ จมดินระเกะระกะอยู่ทั่วบริเวณในสภาพเช่นนี้ คณะที่อพยพมาด้วยกันไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องช่วย กันบูรณะซ่อมแซมต่อไป ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ตีตัวจากไป ที่เหลืออยู่ก็ก้มหน้าลงมือทำงาน และเป็นงานที่ต้องลงแรงทำกันเองทั้งสิ้น

ฤดูร้อนปีนั้นอากาศแจ่มใส มีอาสาสมัครผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยทำงานกัน อย่างหนักแต่ร่าเริงสนุกสนาน ได้อาศัยพักอยู่ในกระโจมเป็นการชั่วคราวไปก่อน ใน พรรษานั้น พุทธบริษัทที่มาอยู่ ณ ที่นั้น มีพระภิกษุหกรูป สามเณรสองคน อนาคาริก แปดคน มีสตรีที่เข้ามาฝึกเตรียมจะบวชเป็นแม่ชีสี่คน กับฆราวาสสามสี่คนที่ผลัดเปลี่ยนกันมาอยู่เป็นระยะๆ สำหรับแม่ชีนั้นได้ใช้กระท่อมหลังเล็กๆ ใกล้ป่าแฮมเมอร์วูด เป็นที่พัก สถานพำนักจิตแห่งนี้ ได้ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ และสำนักแม่ชี ในเวลาต่อมา

พระอาจารย์สุเมโธ

สถานีวิทยุ บี.บี.ซี. ออกอากาศบทความเรื่อง “พระพุทธองค์เสด็จสู่ซัสเซกซ์แล้ว” ก่อให้เกิดความสนใจขึ้นในหมู่ชนทั่วไป ในชั้นแรกนั้น คนในท้องถิ่นยังมีความแคลงใจ อยู่ บางคนรังเกียจ คิดว่าเป็นการรุกรานของพวกนอกศาสนา คือพวกไม่มีพระเจ้า หลงใหลบูชารูปปั้น และเที่ยวเดินภิกขาจารไปตามท้องถนน แต่หลังจากที่ได้ทำความ เข้าใจกัน และได้เห็นความเคร่งครัดในพระวินัย ประพฤติปฏิบัติในทางที่ไม่เป็นพิษ เป็นภัยต่อผู้ใด สุภาพสงบเสงี่ยมและถ่อมตน ความเข้าใจอันดี จึงเกิดขึ้น ในที่สุด คณะ กรรมการบริหารตำบลได้ยินยอมรับฐานะของวัดชิตเฮิสต์ ให้มีอิสระที่จะฝึกอบรมพระภิกษุสามเณร และแม่ชีได้ และสามารถดำเนินชีวิตตามวิถีทาง และขนบประเพณีของวัด ในพระพุทธศาสนา

คำรับรอง หรือคำอนุญาตนี้ตกมาใน พ.ศ.2524 แต่มาถึงช่วงนั้น วัดได้พัฒนา ไปแล้วหลายๆ ด้าน จากการทำงานกันอย่างหนักในฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2522 ได้ดัด แปลงเป็นห้องครัวขึ้นห้องหนึ่ง แต่ต้องทนต่อความหนาวเหน็บตลอดฤดูหนาว จนกว่า จะได้เตาฟืนมาใช้ในเดือนมีนาคมของปี พ.ศ.2523 เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตัวตึก ได้ดัดแปลงส่วนหนึ่งของอาคาร โดยรื้อพื้นและประตูหน้าต่างตั้งชั้นล่างจดชั้นบน แล้วสร้าง เป็นห้องพระ ตลอดฤดูหนาวครั้งที่สอง งานต้องหยุดชะงักเพราะขาดปัจจัย ท่านสุเมโธ จึงตัดสินใจว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้หยุดงานแล้วพากันปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง หรือ เรียกกันว่า รีทรีต (Retreat) เลยกลายเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันสืบมา
ในตอนท้าย ของระยะการปฏิบัติธรรมนี้ คือในเดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ.2524 พระพุทธองค์ได้เสด็จ มาสู่ซัสเซกซ์ โดยมาในรูปพระพุทธปฏิมาประธาน น้ำหนักครึ่งตัน ซึ่งพุทธบริษัทในประเทศไทยได้กรุณาส่งมาให้ ทำให้ทุกคนมีกำลังใจลงมือทำงานกันต่อไปโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และในวันก่อนวันอาสาฬหบูชา ห้องพระก็เสร็จเรียบร้อย พร้อมกับมีพระพุทธปฏิมาประดิษฐานอยู่อย่างสง่างาม

ในช่วง แรกๆ นั้น นอกจากจะมีการปฏิบัติธรรมระยะสั้น เวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการทำงาน บางครั้งต้องทำจนดึกดื่นเพื่อให้งานเสร็จ ครั้งหนึ่งทำนบใกล้กระท่อมทำท่าจะพัง จึงต้องเร่งซ่อมแซมเป็นการด่วน บางคนเหนื่อยและบ่นว่าไม่มีเวลาทำสมาธิภาวนา แต่ ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าช่วงนั้นเป็นระยะเวลาแห่งการเริ่มต้น อันที่จริงแล้ว เป็นเวลาที่ดี มากในการฝึกพระวินัย มีการอบรมสั่งสอนที่ดี มีการสนับสนุนพอสมควร และมีคณะ สงฆ์ที่เป็นปึกแผ่นมั่นคง

พระอาจารย์สุเมโธ

ขณะนี้ เลขานุการของท่านสุเมโธ แทนที่จะจดลงไปว่า มีกิจรับนิมนต์ไปข้างนอกวันไหนบ้าง กลับต้องบันทึกว่า ท่านอยู่วัดวันไหน ได้มีความเข้าใจมากขึ้นถึงความจริง และความรับผิดชอบในวิถีดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ทั้งในหมู่ผู้ที่สมัครจะเข้ามาบวชและ ฆราวาสทั่วไป และเป็นที่แน่นอนแล้วว่าวิถีชีวิตเช่นนี้ สามารถจะดำเนินไปได้ในประเทศอังกฤษ

พระสุเมธาจารย์ คณะสงฆ์ และสานุศิษย์ของท่านได้ปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่ธรรมอย่างเข้มแข็ง ได้ผลดี เป็นที่น่าชื่นชมยิ่งนัก มีชาวตะวันตกประกาศตนเป็นพุทธมามกะเพิ่มขึ้นเป็นสถิติสูงมาก จนอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทสายวัดป่าจากประเทศไทยได้รับการประดิษฐานเป็นอย่างดี ในโลกตะวันตก มิใช่แต่เฉพาะในประเทศอังกฤษเท่านั้น การเจริญเติบโตของทางวัดยังได้ขยายไกล ออกไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์และอิตาลี