วิธีสร้างบุญบารมี เจตนาต้องบริสุทธิ์ หาใช่การวัดจากจำนวนเงิน

1768
views

การทำบุญในยุคสมัยก่อน คนรู้จักเพียงการใส่บาตรตอนเช้า สวดมนต์ไหว้พระตอนตื่นนอน และก่อนเข้านอน รวมถึงการไปวัดในวันอาทิตย์

การใส่บาตร

เมื่อยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลง ข้อมูลข่าวสารมีมากขึ้น องค์ความรู้ต่างๆ ถูกตีแผ่ขยายมากขึ้น รูปแบบการทำบุญจึงถูกพัฒนาและมีความเปลี่ยนแปลงไป

จากใส่บาตรกันเฉพาะส่วนบุคคล หรือเฉพาะครอบครัวตอนเช้า ก็เป็นการใส่บาตรรวมกันเป็นหมู่คณะใหญ่ในอีเวนท์ต่างๆ

จากที่เคยสวดมนต์นั่งสมาธิที่บ้านก็มีค่ายปฏิบัติธรรม สถานปฏิบัติธรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มีทั้งที่ทำได้ตามหลักที่ถูกต้อง และมีไม่น้อยเช่นกันที่มีการดัดแปลงและเติมแต่งกันไป

บุญ

รูปแบบการทำบุญ ในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ระบุวิธีการทำบุญไว้ ๓ อย่าง เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ได้แก่

๑. ทานมัย ทำความดีด้วยการให้

๒. ศีลมัย ทำความดีด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติดีมีระเบียบวินัย

๓. ภาวนามัย ทำความดีด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจ

ไหว้พระ

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาสังคีติสูตร ขยายความเพิ่มอีก ๗ ประการ จึงรวมเป็น บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้แก่

๔. อปจายนมัย ทำความดีด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน

๕. เวยยาวัจจมัย ทำความดีด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้

๖.​ ปัตติทานมัย ทำความดีด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น ช่วยเหลือแก่สังคมรอบข้าง

๗.​ ปัตตานุโมทนามัย ทำความดีด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น การยอมรับหรือยินดีในการทำความดีหรือทำบุญของผู้อื่น เมื่อใครไปทำบุญมาก็รู้สึกชื่นชมยินดีไปด้วย

ฟังธรรม

๘.​ ธัมมัสสวนมัย ทำความดีด้วยการฟังธรรม จะทำให้เราได้ฟังเรื่องที่ดี มีประโยชน์ทั้งต่อสติปัญญา และการดำเนินชีวิต

๙. ธัมมเทสนามัย ทำความดีด้วยการสั่งสอนธรรม การให้ธรรมะหรือข้อคิดที่ดีๆ แก่ผู้อื่น

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำความดีด้วยการทำความเห็นให้ตรง เหมาะสม การไม่ถือทิฐิ เอาแต่ความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่

อปจายนมัยและเวยยาวัจจมัยจัดเข้าในสีลมัย ปัตติทานมัยและปัตตานุโมทนามัยจัดเข้าในทานมัย ธัมมัสสวนมัยและธัมมเทสนามัยจัดเข้าในภาวนามัย ทิฏฐุชุกัมม์ได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา

พระพุทธ

จะเห็นได้ว่าในหลักของการสร้างบุญ การสร้างบุญที่ต้องใช้เงินสร้างมีเพียงรูปแบบเรื่อง ทานเท่านั้น ที่ต้องใช้กำลังทรัพย์หรือสิ่งของ ข้ออื่นๆ ไม่ต้องใช้เงินเลย

อย่างไรก็ตาม การทำบุญด้วยทานก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้บุญในข้ออื่นๆ มีกำลังใจและมีพลังเต็มไปด้วย เพราะคนเราถ้าไม่รู้จักสละออกแล้ว

ทำความดีอะไรก็ทำไม่ขึ้น พระพุทธเจ้าจึงระบุเรื่องการรู้จักให้และสละออกเอาไว้เป็นข้อแรก และอย่าลืมเป็นอันขาดว่า บุญนั้น “วัดด้วยเจตนา” มิใช่ “จำนวนเงิน”

เรียบเรียง ที่มา : ธ.ธรรมรักษ์