การรับขันธ์ สัญญาใจระหว่างเทพกับมนุษย์ ที่ต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้อง

15071
views
การรับขันธ์

หลายคนคงจะประสพปัญหาเกี่ยวกับชีวิต หน้าที่การงาน การเจ็บป่วย เชื่อถือในเรื่องไสยศาสตร์ สิ่งลี้ลับ ก็มักจะไปตามตำหนักทรงต่าง ๆ บ่อยครั้งที่ถูกทักว่า มีองค์ ต้องรับขันธ์ จึงจะทำให้ชีวิตหน้าที่การงาน การเงิน คู่ครอง การค้าขาย หรือ สุขภาพจะดีขึ้น แรก ๆ ก็อาจเฉย ๆ พอถูกทักบ่อยเข้าชักเขวเหมือนกัน ก็เลยตกกระไดพลอยโจนไปกับเขาด้วย ขันธ์หนึ่งก็ไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ บาทขึ้นไป จนเหยียบ ๑๐,๐๐๐ บาท แล้วแต่จะเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ ขันธ์ ๙ ขันธ์ ๑๐ ขันธ์ ๑๖ ก็ว่ากันไป ตามอัตตภาพ ไม่รู้ว่าอุปทานหรือไม่ บางคนก็ว่าอะไร ๆ ดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่พบว่าเลวยิ่งกว่าเก่า ปัญหารุมเร้าหนักกว่าเดิม พาลเป็นบ้าเป็นบอ เจ็บป่วยหนักกว่าเดิมก็แยะ

ขันธ์ ๕ คือ เครื่องสักการะบูชา ที่ผู้จะมาขอเป็นศิษย์จัดมาให้ครูบาอาจารย์ เพราะในบรรพกาลผ่านมาจวบจนปัจจุบัน การเรียนรู้สารพัดวิชา จะต้องอาศัยการศึกษาจากผู้ที่เป็นครู และการจะขอเรียนวิชาการเหล่านั้นก็จำเป็นต้องจัดตั้งขันธ์ ๕

ขันธ์5

ขันธ์ ๕ ดังกล่าวประกอบด้วย ดอกไม้ขาว ธูป เทียน ผ้าขาว และใช้ใบตองทำกรวยทรงแหลม ๕ กรวย บรรจุดอกไม้ ธูป เทียน ๕ คู่ ใส่ลงในกรวยทั้ง ๕ แล้วจึงนำวางลงบนผ้าขาวที่วางรองรับอยู่บนพานหรือภาชนะ แล้วจึงนำเข้าไปกราบครูบาอาจารย์ เพื่อขอเป็นศิษย์ ซึ่งผู้เป็นครูก็จะตรวจดูดวงชะตา ว่าสมควรจะรับเป็นศิษย์ได้หรือไม่ เพราะบางทีจะกลายเป็นศิษย์คิดล้างครูได้ในภายหลัง จึงจำเป็นต้องตรวจเช็คดูเสียก่อน หากไม่ประสงค์จะรับเข้าเป็นศิษย์ก็จะไม่รับขันธ์ 5 หากพิจารณาเห็นสมควรแล้วก็รับขันธ์ ๕ นั้นมา

ขันธ์ครู คือ เครื่องมงคลทั้ง ๕ ที่ผู้เป็นครูประสิทธิประสาทพร ในรูปแบบของวัตถุให้กับศิษย์เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติ และเป็นที่รำลึกแก่ศิษย์ให้มีความขยันหมั่นเพียรศึกษาวิชาความรู้ที่ครูมอบให้ไปศึกษาเล่าเรียน

ขันธ์ ๕ องค์เทพ หมายถึงขันธ์ ๕ และขันธ์ครูรวมเข้าด้วยกันนั่นเอง

การรับขันธ์

การจัดขันธ์ ๕ คือการถวายสังขาร และจิตวิญญาณต่อพระพุทธเจ้าเพื่อปฎิบัติพระนิพพาน กรณีการรับขันธ์ ขันธ์ ๕ ของมนุษย์นั้น ประกอบไปด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

เทพ เป็นจิตวิญญาณ มีขันธ์เพียง ๕ ขันธ์ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์ จึงต้องอาศัยการแต่งขันธ์ ๕ ของมนุษย์ ที่จัดตบแต่งขึ้นมาเป็นตัวแทนของตน ว่าได้ยอมรับเป็นร่างให้กับเทพองค์นั้น ๆ และยังหมายถึงข้อตกลง ระหว่างเทพกับมนุษย์ผู้ตกลงปลงใจยอมรับหน้าที่เป็นสังขารขันธ์ให้กับองค์เทพผู้นั้นไว้ใช้ร่างของตนสร้างบารมี โดยมีองค์เทพผู้ทำพิธีมอบขันธ์ให้เป็นสักขีพยาน หากแม้นมีใครระหว่างเทพกับมนุษย์มีการผิดข้อตกลง ก็ต้องเดือดร้อนถึงผู้เป็นครูที่เป็นสักขีพยาน จะต้องทำหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนผู้กระทำผิดต่อไป

ดังนั้นความหมายของการรับขันธ์ขององค์เทพ จึงเป็นสัญญาใจหรือข้อตกลงในการประพฤติปฏิบัติทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวแทนแห่งเทพ ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องในความหมายดังนี้

ขันธ์ ๕ หมายถึงการรับศีล ๕ มาปฏิบัติโดยเคร่งครัด ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าเผลอไปรับเข้า มิฉะนั้นอาจถูกลงโทษได้

ขันธ์ ๘ หมายถึงการรับศีล ๘ ซึ่งจะต้องประพฤติพรหมจรรย์ ห้ามร่วมหลับนอนฉันท์สามีภรรยา งดเว้นอาหารมื้อเย็น สวดมนต์ไหว้พระ เจริญสมาธิภาวนา เหมือนการถือศีลบวชพราหมณ์นั่นเอง

การรับขันธ์

ขันธ์ ๙ หมายถึงการรับศีลอุโบสถ ถือศีล ๘ เคร่งครัด เด็ดดอกไม้ก็ไม่ได้ ดมดอกไม้หรือเครื่องหอมก็ไม่ได้ กินแต่อาหารเจ หรือมังสวิรัติ

ขันธ์ ๑๐ หมายถึงศีลของสามเณรหรือสามเณรี ก็เท่ากับการถือบวชโดยถือสิกขาบท ๑๐ ประการ

ขันธ์ ๑๖ หมายถึงศีลของนักบวช ที่มุ่งการบำเพ็ญสมาธิภาวนา กินอาหารมือเดียว งดเว้นของสดของคาว กินแต่ผลไม้ เผือกมัน ไม่เที่ยวเดินพลุกพล่าน อยู่ด้วยการสำรวมปฏิบัติ นั่งสมาธิเป็นที่เป็นทาง แทบจะทำตัวเหมือนนักบวช เพียงแต่เป็นการบวชใจไม่ได้บวชกายเท่านั้น

ดังนั้นหากถือปฏิบัติตามที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ ก็จงอย่าได้รับเลย หากแม้นมีใครแนะนำให้รับก็จงพิจารณาให้ถ้วนถี่เสียก่อน เพราะการรับขันธ์นั้นไม่ใช่เพียงนำมาบูชาเท่านั้น จะต้องปฏิบัติเป็นประจำด้วยก็คือ การสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ แผ่เมตตาถึงองค์เทพที่รับมาด้วยจึงจะถูกต้อง ไม่เช่นนั้นแล้วอาจสร้างปัญหาให้เดือดร้อนได้ เพราะถือว่าผิดสัจจะที่รับมา

การรับขันธ์

ถ้าจำเป็นต้องรับด้วยเหตุอันใดก็ตาม เช่น นิมิตจากองค์เทพมาบอกเอง ก็ควรพิจารณาให้ดีว่าจะรับจากใคร หรือถ้าเป็นตำหนัก ก็ต้องดูว่าร่างนั้นปฏิบัติตนอยู่ในหลักศีลธรรมหรือไม่ เหมาะที่จะเป็นครูบาอาจารย์ที่จะทำพิธีมอบขันธ์ให้หรือเปล่า เพราะหากเป็นร่างที่แอบอ้าง หรือเป็นเทพกึ่งเปรต ก็อาจจะนำเอาบริวารที่เป็นตีนโรงตีนศาลมาครอบให้แทน ก็จะวุ่นวายไปกันใหญ่ อันนี้ต้องระวังให้หนัก