การขจัดปัญหาทุกข์ใจผ่อนคลายและป้องกันได้ด้วยตนเอง

1283
views
การขจัดทุกข์ด้วยตนเอง

การขจัดทุกข์ด้วยตนเอง จะปรับตัวอย่างไร ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากครั้งนี้ไปได้

ที่มาของความทุกข์ส่วนใหญ่มาจากคนใกล้ตัวของเรา นั่นเอง ซึ่งได้แก่ ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ผู้ร่วมงาน ในทางธรรม อธิบายว่าเกิดจากตัวของเราร่วมด้วย อันได้แก่ ความโลภ โกรธ และหลง ซึ่งเป็นตัวกิเลสตัณหาที่ตัวเรายึดมั่นถือมั่น สิ่งในเหล่านี้เป็นตัวสร้าง ปัญหาหรือนำความทุกข์มาให้เราทั้งสิ้น

ความทุกข์ที่ทับถมลงในใจ โดยไม่ถูกปลดปล่อยให้หลุด
พ้นออก ไปบ้างเปรียบเสมือนการแบกของหนักไว้บนบ่าตลอดเวลา ทำให้ร่างกาย ปวดเมื่อยอ่อนล้า เช่นเดียวกับคนที่มีความทุกข์กดดันจิตใจ มักจะมอง ไม่เห็นทางออกไม่ว่าทุกข์นี้จะมีสาเหตุมาจากอะไรก็ตาม สาเหตุแห่ง ความทุกข์มีต่างๆ กันดังนี้

● ทุกข์ เพราะครอบครัว ผิดใจ น้อยใจ ทะเลาะกับคนในบ้าน คู่ครองนอกใจ

● ทุกข์ เพราะไม่มีจะกิน หนี้สินมากมาย ล้มละลาย ตกงาน

● ทุกข์ เพราะตนเองเป็นคนชอบคิดมาก ระแวงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกรังแก
เอาจริงเอาจังในชีวิตมากเกินไป ไม่ยืดหยุ่น

● ทุกข์ เพราะไม่สมหวังในการเรียน การทำงาน

● ทุกข์ เพราะสูญเสียสิ่งมีค่า มีความสำคัญ หรือถูกคนรักทอดทิ้ง

● ทุกข์ เพราะสุขภาพไม่ดี มีโรคภัยไข้เจ็บ

● และสุดท้ายที่ถือว่าอาจจะทันสมัยคือ ทุกข์ จากปัญหาการเมืองในปัจจุบัน (ที่อาจเกิดได้กับประชาชนบางกลุ่มทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่นนักการเมือง หรือ ประชาชนทั่วไปที่สนใจการเมืองเป็นพิเศษ เป็นต้น)

เมื่อเกิดความทุกข์จากสาเหตุต่างๆ คนส่วนใหญ่จะเฝ้าคิดวนเวียนอยู่กับเรื่องที่ทำให้ทุกข์ใจคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้เกิดความรู้สึกเศร้า เสียใจ เจ็บใจ โกรธ เคียดแค้น อึดอัด หนักอึ้ง หดหู่ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต และความรู้สึกเหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ถ้าทุกข์ที่แบกรับอยู่ไม่สามารถแก้ไขได้ หนีไม่ได้หรือไม่มีใครช่วยเหลือ อาจจะนำไปสู่ทางออกที่รุนแรงได้หลายอย่าง เช่น

ทำร้ายตัวเองด้วยการกินเหล้า เสพยาเสพติด กินยานอนหลับ เพื่อให้ลืมความทุกข์ ชั่วคราวแต่จะ
กลายเป็น
– ผูกปมปัญหาใหม่ขึ้นมามีผลทำให้สุขภาพทรุดโทรม
– ทำร้ายผู้อื่น บางรายทำพร้อมกับตนเอง
– ทำลายชีวิตตนเอง หรือฆ่าตัวตาย

แนวทางของพุทธศาสนาที่สอนให้คนคลายทุกข์ยึดหลักของ “อริยสัจ 4” คือ สอนให้คนรู้จักวิเคราะห์ปัญหา หาสาเหตุ แล้วให้แก้ที่เหตุซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1. ให้เราคิดเสียว่า ทุกอย่างในโลกไม่มีอะไรเที่ยงแท้ ย่อมเกิดมีดับอยู่ตลอดไป เมื่อมีความสุข ความสุขก็หมดไปได้หรือเมื่อเกิดทุกข์ ทุกข์นั้นก็หมดไปได้เช่นกัน ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ฉะนั้นเมื่อสุขก็อย่างหลงระเริง หรือเมื่อทุกข์ก็ต้องคิดว่าไม่ช้าก็จะหายไปอย่าเอามาเป็นอารมณ์จนเสียสุขภาพกายและจิตเป็นอันขาด

2. อย่ายึดมั่นว่า “ตัวกู ของกู” อันที่จริงแล้วไม่มีอะไรเป็นของเรา ทุกอย่างล้วนแต่สมมติขึ้นทั้งนั้น

ให้ฝึกหัด “ปล่อยวาง” และพยายามคิดว่าถ้าตัวเราแบกของหนักอยู่บนบ่ามันหนักมาก ก็เอาทิ้งเสียบ้าง ก็จะเบาลง

3. ให้ใช้หลัก มัชฌิมาปฏิปทา หรือเดินสายกลาง ใช้หลักพอดีๆ ไม่มาก ไม่น้อยในทุกเรื่อง

4. ให้ประพฤติธรรม รักษาศีล มีใจเป็นทานปฏิบัติสมาธิ และฝึกปัญญาให้มีสติ (ระลึกได้) และสัมปชัญญะ (รู้ตัว) อยู่ทุกขณะเพื่อเป็นเครื่องช่วยเตือนตัวเอง ไม่ให้นำเรื่องต่างๆ มาเป็นอารมณ์ทุกเรื่องไป

แนวทางตะวันตกมีอยู่หลายแนวทางพอนำมาสรุปได้คือ

1. ให้เลือกคบหาเพื่อนหรือคนสนิทที่ดีๆ เพื่อเราจะได้ไว้วางใจ สามารถปรึกษา หรือระบายความทุกข์ด้วยได้

2. ให้ทำตัวง่ายๆ อย่ากำหนดเงื่อนไขในการดำเนินชีวิตไว้สูง แล้วจะรู้สึกผ่อนคลายจากความกดดันต่าง ๆ

3. ให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะจิตใจที่แข็งแกร่งจะอยู่ภายใต้ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงเสมอ สารเอ็นดอฟิล ซึ่งเกิดจากการออกกำลังกาย จะช่วยให้มีความสุขสดชื่น ลืมความ ทุกข์และปัญหาต่างๆ ได้ด้วย

4. ไม่ให้คิดหนีปัญหา แต่ให้ตั้งใจแน่วแน่ที่จะต่อสู่กับปัญหาด้วยความมีสติรอบคอบ และเชื่อมั่นว่าเราสามารถเอาชนะและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

ขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านใช้วิธีคลายทุกข์ของตะวันตกเป็นการเฉพาะหน้า และเพื่อให้เกิดผลถาวร ก็ควรใช้แนวทางของพุทธศาสนา เพื่อกำจัดสาเหตุแห่งความทุกข์ให้หมดไป

ในเมื่อเกิดมาแล้วต้องพบปัญหาและความทุกข์ด้วยกันทุกคน เราจึงน่าจะคิดสู้ชีวิต สู้กับปัญหา กันดีกว่า อย่าเอาแต่ท้อถอยหรือรอให้คนอื่นมาช่วยตลอดเวลา พยายามทำจิตใจให้เข้มแข็งอดทน ใช้ความคิดให้มาก อย่าเอาแต่ใช้อารมณ์ อย่าไปกลัวปัญหาเพราะปัญหาทุกปัญหาล้วนมีทางออกทั้งสิ้น ตั้งสติให้ดี คิดเสียว่าปัญหาและอุปสรรคทำให้ชีวิตมีรสชาติขึ้น เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถ สนุกกับการสู้ชีวิตได้เป็นอย่างดีต่อไป

ปัญหาทุกข์ใจผ่อนคลายและป้องกันได้
ที่มาของข้อมูล : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข