ความจริงอันประเสริฐ เป็นจริงเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง ดำรงอยู่เป็นนิรันดร

1126
views
ความจริงอันประเสริฐ

พระพุทธเจ้าทรงชี้นำหลักธรรมเพื่อดำเนิน ชีวิตไว้หลายข้อ ผู้ประพฤติธรรมไม่ว่าข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมจะเป็นผู้มีคุณสมบัติในการดำเนินชีวิต รู้เท่าทันทุกข์ด้วยปัญญาของตัวเอง ทุกข์ให้รู้ว่าทุกข์ก็จะสามารถเข้าถึงหนทางดับทุกข์ได้ เรากำลังจะพูดถึง อริยสัจ 4 หัวใจพุทธศาสนา ความจริงอันประเสริฐ เป็นเครื่องมือดับทุกข์ได้อย่างชะงัด และยั่งยืน

พระพุทธศาสนาได้สอนหลักอริยสัจ 4 ว่าเป็นหลักแห่งการใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา ไม่ว่าปัญหาที่ประสบ จะเป็นปัญหาเล็กหรือใหญ่ ย่อมสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยปัญญา

“อริยสัจ 4” หัวใจอริยสัจ หรือ “จตุราริยสัจ” คือ ความจริงอันประเสริฐ หลักคำสอนที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วย 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นหลักธรรมแห่งการแก้ปัญหาชีวิต ได้แก่

1. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ หรือความทุกข์กายทุกข์ใจ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวัง เป็นทุกข์

2. สมุทัย คือ ความรู้แจ้งในเหตุแห่งทุกข์ สาเหตุของทุกข์ คือ ตัณหา มี 3 ประการ คือ

1)  กามตัณหา หมายถึง ความดิ้นรนทะยานอยากในกาม คือสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
2)  ภวตัณหา หมายถึง ความอาลัย อยากเป็น อยากอยู่ อยากมี
3) วิภวตัณหา หมายถึง ความดิ้นรน ไม่อยากอยู่ ไม่อยากเป็น ไม่อยากได้นั่นนี่

3. นิโรธ คือ ภาวะหมดปัญหา (การดับทุกข์) เป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ทุกคน เป็นการดับสิ้นแห่งตัณหา ไม่อาลัยพัวพันกับตัณหาอีกต่อไป เป็นสภาพที่ไม่มีทุกข์อีกต่อไป

4. มรรค คือ แนวทางดับทุกข์ หรือแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติกลาง ๆ ไม่ตึงเกินไปและไม่หย่อนเกินไป มรรค ประกอบด้วยองค์ 8 คือ

1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ หมายถึง การเห็นและการเข้าใจ เช่นเข้าใจในไตรลักษณ์ หมายถึงลักษณะ 3 ประการแห่งสังขารทั้งหลาย ได้แก่ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ความไม่คงทน เกิดขึ้นแล้วเสื่อมสลายไป ทุกขัง ความเป็นทุกข์ ความทนอยู่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลงไปตาม เหตุปัจจัย อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง ความไม่คงทนถาวร หลักธรรม ข้อนี้สามารถนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ การเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกสิ่ง

2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือไม่ดำริหาความสุขสำราญและเพลิดเพลินในรูป รส กลิ่น เสียง ดังนี้

1) ดำริออกจากสิ่งที่ผูกพันให้เป็นทุกข์
2) ดำริในทางไม่พยาบาท
3) ดำริในทางไม่เบียดเบียน

3. สัมมาวาจา วาจาชอบ หรือมีวจีสุจริต 4 ประการดังนี้

1)ไม่พูดปด
2) ไม่พุดส่อเสียดนินทา
3) ไม่พูดคำหยาบ
4) ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

4. สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ ได้แก่กายสุจริต 3 ประการ ดังนี้

1) ไม่ฆ่าสัตว์
2) ไม่ลักทรัพย์
3) ไม่ประพฤติผิดในกาม

5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีวิตสุจริตในทางถูกธรรมเนียมทั้งทางโลก ไม่ผิดกฎหมายและทางธรรม ไม่ผิดศีล

6. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ คือ เพียรที่จะป้องกันความชั่วไม่ให้เกิดขึ้น, เพียรที่จะกำจัดความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป, เพียรที่จะสร้างความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น, และเพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม

7. สัมมาสติ ความระลึกชอบ ได้แก่ การระลึกอันทำให้จิตสงบจากราคะ โทสะ โมหะ

8. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบ คือความมั่นคงทางจิต การที่จิตแน่วแน่กับสิ่งเดียว ไม่ฟุ้งซ่านส่ายไปส่ายมา