สายบุญเตรียมฟิตร่างกาย!! กำหนดเปิด เขาคิชฌกูฎ ๒๕๖๗

1054
views
กำหนดเปิด เขาคิชฌกูฎ ๒๕๖๗

สายบุญเตรียมตัว! กำหนดเปิด ประเพณีขึ้นเขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี เพื่อให้นักแสวงบุญ และผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทหลวง 1 ปีมีครั้ง ระยะเวลา 2 เดือน บอกเลยว่าใครยังไม่เคยไป หรืออยากไปซ้ำก็พลาดไม่ได้แล้ว

อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เตรียมเปิดงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง) ประจำปี พ.ศ.2567 ให้พุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง ซึ่งเป็นงานประเพณีที่เปิดปีละครั้ง ระยะเวลา 2 เดือน ได้ขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย ในทุกวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ – 9 เมษายน 2567

โดยจะมีพิธีบวงสรวงปิดป่า-เปิดเขา ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 และพิธีบวงสรวงเปิดป่า-ปิดเขา ในวันที่ 9 เมษายน 2567

ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละช่วงเวลา ประมาณ 6,000 คน โดยอุทยานฯ ได้พิจารณาตามขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ คำนวณจากพื้นที่ใช้สอยบริเวณที่จัดงานประเพณี (1 คน ใช้พื้นที่ 4 ตร.ม.)

ค่าบริการสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญ
– ค่ารถยนต์บริการ 200 บาท/คน
– ค่าเข้าอุทยานฯ ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) เข้าฟรี
ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท

สำหรับ “รอยพระพุทธบาทพลวง” หรือ “รอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ” นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากรอยพระพุทธบาทดังกล่าวประดิษฐานอยู่บนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,050 เมตร

รอยพระพุทธบาทพลวงขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และมีความเชื่อว่าผู้ที่เดินขึ้นไปถึงยอดเขาซึ่งมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่นั้นจะได้บุญสูง อีกทั้งยังเชื่อกันว่า การได้มานมัสการรอยพระพุทธบาทพลวงบนยอดเขาคิชฌกูฏ เปรียบได้กับการเข้าเฝ้าองค์พระศาสดา ถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ ในแต่ละปีจึงมีพุทธศาสนิกชนนับแสนหลั่งไหลมาสักการะรอยพระพุทธบาทด้วยความศรัทธาเป็นจำนวนมหาศาลในทุกๆปี

ใกล้ ๆ กับรอยพระบาทพลวงยังมี “หินลูกพระบาท” หรือ “หินลูกบาตร” ก้อนหินใหญ่รูปทรงคล้ายบาตรคว่ำ ตั้งตระหง่านอยู่ริมหน้าผา ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติสรรค์สร้างอันน่าทึ่งแห่งยอดเขาคิชฌกูฏ ที่หินก้อนใหญ่ยักษ์เช่นนี้สามารถตั้งอยู่บนชะง่อนผาที่ลาดเอียงอย่างมั่นคง

คนที่ขึ้นไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทแล้วมักจะเดินต่อไปจนถึงจุดที่เรียกว่า “ผ้าแดง” ที่อยู่ห่างออกไปอีกราว 500 เมตร เพื่อไปผูกผ้าสีแดงที่เขียนคำอธิษฐานไว้

หากใครสนใจเข้าเที่ยวชมภายในอุทยานฯ หรืออยากขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาทด้านบนสักครั้ง สามารถจองคิวขึ้นนมัสการฯ ในแอปพลิเคชั่น KCKQue (พระบาทเขาพลวง) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี โทร. 039 609 672

รอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ
ภาพ – Manager Online

ตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ

พระครูธรรมสรคุณ เจ้าอาวาสวัดกระทิง และเป็นเจ้าคณะอำเภอมะขาม ผู้สืบค้นประวัติเขาคิชฌกูฏ กล่าวไว้โดยย่อว่า เมื่อ พ.ศ. 2397 นายติ่งและคณะได้พากันขึ้นไปบนเขาหาไม้กฤษณา ไม้กะลำพักมาขาย ต้องขึ้นไปพักอยู่บนเขาเป็นเวลาหลายวัน และได้ไปพักเหนื่อยบนลานหินกว้างใหญ่ เพื่อนของนายติ่งคนหนึ่งได้ถอนหญ้าเพื่อนอนพัก ก็พบแหวนใหญ่ขนาดสวมหัวแม่เท้าได้ และเมื่อช่วยกันตรวจดูก็พบหินแผ่นหนึ่ง มีพื้นที่เป็นรอยรูปก้นหอยต่อมานายติ่งและเพื่อนได้นำบุตรชายไปอุปสมบทที่วัดพลับ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี รุ่งขึ้นก็มีงานเทศกาลปิดรอยพระพุทธจำลอง นายติ่งจึงซื้อทองไปปิดรอยพระพุทธบาทนั้น เมื่อปิดแล้วจึงพูดขึ้นว่ารอยพระพุทธบาทเช่นนี้ทางบ้านผมก็มีเหมือนกัน

พอดีมีพระได้ยินเข้าจึงไปเรียนให้เจ้าอาวาสวัดพลับ (หลวงพ่อเพชร) ทราบ ขณะนั้นหลวงพ่อดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี จึงเรียกนายติ่งมาสอบถาม แล้วพาคณะขึ้นไปพิสูจน์ดู ก็เป็นความจริง และตรวจดูตามบริเวณนั้นทั่วๆ ไปก็พบสิ่งแปลกประหลาดและสิ่งมหัศจรรย์หลายอย่าง รอยพระพุทธบาทนั้นท่านทรงเหยียบจารึกไว้ที่ศิลาแผ่นใหญ่ บรรจุคนนั่งได้เป็นร้อยกว่าคนบนยอดเขาสูงสุดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาทมีหินกลมก้อนหนึ่งใหญ่มาก เรียกกันว่า หินลูกพระบาท ตั้งขึ้นมาน่าแปลกมหัศจรรย์เป็นอย่างมากไม่น่าจะตั้งอยู่ได้ มองดูคล้ายลอยอยู่เฉยๆ มีคนกล่าวว่าเขาเคยเอาด้ายสายสิญจน์คล้องแล้วหลุดมาได้

ตามความเชื่อ ว่ากันว่าใครได้มานมัสการรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาคิชฌกูฏก็เหมือนได้เข้าเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะได้รับกุศลอันยิ่งใหญ่ มีแต่ความสุขความเจริญ หากได้มาอธิษฐานขอพรแล้วจะสมหวังดั่งใจปรารถนา