หนทางสู่การดับทุกข์ ตามแนวทางของพระพุทธเจ้า

1792
views
หนทางดับทุกข์

“บุญ” คือ เครื่องชำระล้างใจให้ใสสะอาด ให้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง และเมื่อสั่งสมบุญไว้มาก ๆ บุญเหล่านั้นก็จะกลายเป็น “บารมี” ซึ่งมีอานุภาพมากมายยิ่งกว่าบุญ และสุดท้ายก็ไปสู่นิพพานที่หลุดพ้นจากวัฏฏะทั้งปวงนั่นเอง

พระสงฆ์

สำหรับพุทธศาสนิกชนอย่างเรา ๆ อาจมองว่า “นิพพาน” เป็นเรื่องของอรหันต์ พระสงฆ์องค์เจ้า หรือเป็นเรื่องไกลตัวเกินกว่าจะถูกพูดถึง ขอแค่ทำบุญเยอะ ๆ ทำบาปนิดหน่อยดูเหมือนจะง่ายกว่า แต่อย่าลืมว่า “บุญส่วนบุญ บาปก็ส่วนบาป” อย่าไปคิดว่าทำบุญเยอะ ๆ เพื่อล้างบาปได้ เพราะแม้เราจะมีแต้มบุญหรือสร้างบุญไว้มากแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายแล้วก็ยังต้องไปชดใช้กรรมก่อนอยู่ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับแรกก็คือการละเว้นจากการทำบาปทั้งปวงนั่นเอง

“การละบาปนี้สำคัญกว่าการทำบุญ ไม่ละบาป ไม่ละความชั่วแล้ว จิตไม่ผ่องใสหรอก ถ้าทำบาปแลกบุญ ก็ขาดทุนเรื่อยไป ทำดีได้ชั่ว ไม่มีหรอก ทำชั่วได้ดี ก็ไม่มี”
-พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)-

หลวงปู่ชา สุภัทโท

เหตุที่ต้องละบาปให้ได้ก่อนก็เพราะหากไม่ละบาป ไม่ละความชั่ว จิตใจก็ไม่ผ่องใสพอที่จะสร้างบุญได้ โดยการละบาปนั้นทำได้ด้วยการถือศีล ๕ เป็นเบื้องต้น ซึ่งเมื่อรักษาศีลได้ครบถ้วนแล้ว การสะสมแต้มบุญให้มากขึ้นไปก็จะค่อย ๆ พัฒนาตามไปด้วย

อย่างที่รู้กันว่าการสร้างบุญมีด้วยกัน ๓ ประการ ก็คือทาน ศีล และภาวนา ไล่เรียงจากอานิสงส์ที่จะได้น้อยไปหามาก ซึ่งการภาวนาถือว่าเป็นทำการบุญลงทุน ลงแรงน้อยที่สุด แต่ได้อานิสงส์ผลบุญแรงที่สุด

ส่วนการทำทาน เรียกว่าเป็นการทำบุญขั้นต้น ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคสิ่งของ กำลังทรัพย์ หรืออะไรก็ตามถือว่าเป็น “อามิสทาน” ที่ได้อานิสงส์เพียงน้อยนิด โดยการทำทานที่ได้บุญกุศลสูงสุดก็คือการให้ธรรมะเป็นทาน หรือที่เรียกว่า “ธรรมทาน” โดยพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “การให้ธรรมเป็นทานนี้ชนะการให้ทั้งปวง ได้บุญกุศลมากเสียยิ่งกว่าการสร้างโบสถ์ สร้างวิหารเสียอีก”

สำหรับ “ศีล” ก็มีด้วยกันหลายระดับ เบื้องต้นที่สุดก็คือ “ศีล ๕” ที่พุทธศาสนิกชนอย่างเรา ๆ ควรจะรักษาไว้ให้ได้ เพราะการรักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา ซึ่งเป็นกิเลสหยาบไม่ให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน โดยในส่วนของ “ศีล” การจะได้บุญกุศลสูงสุดก็คือ การอุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนานั่นเอง

สุดท้าย “ภาวนา” ซึ่งเป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้และสูงกว่า “ศีล” และ “ทาน” มากนัก โดยการภาวนาแบ่งเป็นการทำสมาธิ และการวิปัสสนา ซึ่งสมาธิคือการทำจิตให้เป็นสมาธิหรือเป็นฌาน ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ส่วนวิปัสสนาไม่ใช่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนิ่งอยู่เช่นนั้น แต่เป็นจิตที่คิดและใคร่ครวญหาเหตุและผลในสภาวธรรมทั้งหลาย

ธรรมโอสถ

ฉะนั้นการจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำสมาธิให้ได้เสียก่อน หากทำสมาธิยังไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น สมาธิจึงเป็นเพียงบันไดขั้นต้นที่ก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น

ที่สุดแล้ว “ทาน” “ศีล” “ภาวนา” คือหนทางหลักที่นำไปสู่การดับทุกข์ที่แท้จริง

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร