ธันวาคม ชม”ฝนดาวตกเจมินิดส์” ฝนดาวตกขนาดใหญ่ที่มีอัตราการตก 150 ดวง/ชั่วโมง

1318
views

ช่วงกลางเดือนธันวาคมของทุกปี มักมีกระแสการพูดถึงปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids)” หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ มีศูนย์กลางกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ เป็นมหกรรมชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ครั้งใหญ่และกิจกรรมตามหอดูดาวต่าง ๆ ในหลายประเทศทั่วโลก

เจมินิดส์ได้ชื่อว่าเป็นฝนดาวตกที่เชื่อถือได้ที่สุด มันเริ่มปรากฏตัวครั้งแรกในช่วงกลางทศวรรษที่ 1800s อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้นสังเกตเห็นได้น้อยมาก มีเพียง 10-20 ดวงต่อชั่วโมงเท่านั้น ต่างจากในปัจจุบันที่กลายเป็นฝนดาวตกขนาดใหญ่ที่มีอัตราการตกราว 150 ดวงต่อชั่วโมง

องค์การนาซา (NASA) แนะนำว่า หากต้องการชมเจมินิดส์ ให้หาบริเวณที่ห่างไกลจากแสงไฟแสงสว่าง เตรียมถุงนอน ผ้าห่ม หรือเก้าอี้สนาม นอนหงายโดยให้เท้าหันไปทางทิศใต้ แล้วเงยหน้าขึ้นหรือนอนมองท้องฟ้า

ทั้งนี้ ฝนดาวตกเจมินิดส์มีลักษณะการตกกระจายทั่วท้องฟ้าจากจุด ๆ หนึ่งที่เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรือใกล้เคียงกับกลุ่มดาวอะไร ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้น ๆ หรือดาวที่อยู่ใกล้กลุ่มดาวนั้น เช่น ฝนดาวตกเจมินิดส์ ซึ่งมีจุดศูนย์กลางการกระจายใกล้กลุ่มดาวคนคู่ (เจมีไน)

จุดเด่นของฝนดาวตกเจมินิดส์ที่ทำให้มันเป็นฝนดาวตกที่ดูได้ง่ายคือ ความเร็วของดาวตกไม่มากนัก มีอัตราตกค่อนข้างมาก สามารถมองเห็นได้รอบทิศ

อีกหนึ่งคุณลักษณะเด่นของเจมินิดส์คือ มันเป็นฝนดาวตกที่มีต้นกำเนิดจากดาวเคราะห์น้อย แตกต่างจากฝนดาวตกส่วนใหญ่ที่มีต้นกำเนิดจากดาวหาง

เจมินิดส์มีต้นกำเนิดจากดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ซึ่งใช้เวลา 1.4 ปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 ครั้ง โดยมีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงดังกล่าวเมื่อปี 1993 และนักดาราศาสตร์ เฟร็ด วิปเปิล เป็นผู้ได้ข้อสรุปว่า เจมินิดส์เกิดจาก 3200 เฟธอน

3200 เฟธอนมีวงโคจรเป็นวงรีคล้ายดาวหาง แต่เมื่อเฟธอนโคจรผ่านดวงอาทิตย์ จะไม่เกิดหางอย่างดาวหาง และสเปกตรัมของมันดูเหมือนดาวเคราะห์น้อยที่เป็นหิน

ชื่อเฟธอนนี้มีที่มาจากตัวละครหนึ่งในตำนานปกรณัมกรีก โดยเฟธอนเป็นคนขับราชรถเคลื่อนดวงอาทิตย์ของ เฮลิออส เทพแห่งดวงอาทิตย์

ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ปีนี้ ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14 ธันวาคม – รุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566 ด้วยอัตราการตกสูงสุดมากถึง 120-150 ดวง/ชั่วโมง และเป็นช่วงฤดูหนาวที่ฟ้าใสไม่ต้องลุ้นฝน อีกทั้งปีนี้ไร้แสงจันทร์รบกวนด้วย

ที่มา : NASA / pptvhd36 / Dark-Sky Thailand