ที่มาของ สำนวนที่ว่า “18 มงกุฏ” มีวานรชื่ออะไรบ้าง ?

1392
views

18 มงกุฎ มีแต่ใน “รามเกียรติ์” ไม่มีใน “รามายณะ” (รามายณะ เป็นวรรณคดีประเภทมหากาพย์ของอินเดีย เชื่อว่าเป็นนิทานที่เล่าสืบต่อกันมายาวนานในหลากหลายพื้นที่ของชมพูทวีป แต่ผู้ได้รวบรวมแต่งให้เป็นระเบียบครั้งแรกคือฤๅษีวาลมีกิ เมื่อกว่า 2,400 ปีมาแล้ว)

ถึงแม้ว่าเรื่องราว 18 วานรในวรรณคดี “รามเกียรติ์” อาจเป็นเพียงเรื่องราวในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มิใช่เรื่องราวที่สืบทอดมาจากมหากาพย์ “รามายณะ” โดยตรงก็ตาม แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ของรามเกียรติ์ ก็ยังคงยึดหลักการดำเนินเรื่องมาจากรามายณะเป็นสำคัญ

หนุมานในรามายณะ ไม่เจ้าชู้ ถือเพศพรหมจรรย์ ต่างจากรามเกียรติ์ ที่กลายมาเป็นลิงจอมเจ้าชู้ ไม่เลือกหน้าถ้าถูกใจ

เช่นเดียวกับ 18 มงกุฎ ที่ไม่ปรากฏในรามายณะ แต่กลับโลดแล่นมีตัวตนในรามเกียรติ์

18 มงกุฎ เป็นวานรที่มาจากสองเมือง คือ เมืองขีดขินของท้าวสุครีพ และเมืองชมพูของท้าวมหาชมพู ซึ่งแต่เดิมทั้งหมดก็คือเทพเจ้า 18 องค์บนสวรรค์ ทั้งทิศปาลก (ผู้รักษาทิศ) และ เทพนพเคราะห์ ที่อาสามาตามพระนารายณ์อวตารมาเป็นพระราม หรือ “รามจันทราวตาร” นั้นเอง ดังบทละครรามเกียรติ์ ที่กล่าวว่า

๏ เมื่อนั้น ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่
ต่างทูลอาสาพระภูวไนย จะขอไปเป็นพลพระอวตาร
มาล้างเหล่าอสุรพาลา ที่หยาบช้าเบียนโลกทุกสถาน
พระราหูฤทธิไกรชัยชาญ เป็นทหารชื่อนิลปานัน
พระพินายนั้นเป็นนิลเอก พระพิเนกนั้นเป็นนิลขัน
พระเกตุเป็นเสนีกุมิตัน พระอังคารเป็นวิสันตราวี
พระหิมพานต์จะเป็นโกมุท พระสมุทรนิลราชกระบี่ศรี
พระเพลิงเป็นนิลนนท์มนตรี พระเสารีเป็นนิลพานร
พระศุกร์เป็นนิลปาสัน พระหัสนั้นมาลุนทเกสร
พระพุธเป็นสุรเสนฤทธิรอน พระจันทรเป็นสัตพลี
วิรูฬหกวิรูปักษ์สองตระกูล เป็นเกยูรมายูรกระบี่ศรี
เทวัญวานรนอกนี้บาญชี เจ็ดสิบเจ็ดสมุดตรา ฯ

คำว่า “18 มงกุฎ” หมายถึง วานร(ลิง) 18 มงกุฎ เป็นวานรที่มาจากสองเมืองคือ เมืองขีดขินของสุครีพ และเมืองชมพูของท้าวมหาชมพู วานรเหล่านี้เป็นเทวดาที่จุติลงมาเป็นวานร และมาเป็นทหารเอกในกองทัพของพระราม ผู้ซึ่งเป็นองค์พระนารายณ์อวตารลงมา และต้องไปอยู่ในป่าเป็นเวลา ๑๔ ปี เพื่อรักษาสัจจวาจาของพระราชบิดา คือท้าวทศรถ วานรสิบแปดมงกุฏ มีดังนี้ …

1. เกยูร – วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีม่วงแก่ หรือ สีม่วงชาดแก่ หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ จตุโลกบาลแห่งทิศใต้

2. โกมุท – วานรฝ่ายเมืองขีดขิน สีบัวโรย มีลักษณะ หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระหิมพานต์ เทพเจ้าแห่งป่าหิมพานต์ เมื่อครั้งเสร็จศึกลงกา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาฝ่ายซ้ายเมืองขีดขิน คู่กับไชยามพวาน

3. ไชยามพวาน – วานรฝ่ายเมืองขีดขิน สีเทา หรือสีมอหมึกอ่อน มีลักษณะ หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระอีศาณ หรือพระวิศาลเทพบุตร ไชยามพวานได้รับพรจากพระอิศวรให้เป็นผู้ถือธงชัยนำกองทัพพระรามไปรบ เพราะมีชื่อเป็นมงคลข่มนามอสูร เมื่อเสร็จศึกลงกา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาฝ่ายขวาเมืองขีดขิน คู่กับโกมุท

4. มาลุนทเกสร – วานรฝ่ายเมืองขีดขินลักษณะ สีเมฆ หรือ สีม่วงครามอ่อน หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระพฤหัสบดี เทวดานพเคราะห์ เทพฤษี อาจารย์ของพระอินทร์

5. วิมลวานร วิมลวานร หรือ พิมลพานร – วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีดำหมึก หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระเสาร์ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าแห่งการกสิกรรม

6. ไวยบุตร – วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีเมฆครึ้มฝน หรือ สีมอครามแก่ หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระพิรุณ เทพเจ้าแห่งฝน

7. สัตพลี – วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีขาวผ่อง หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือ พระจันทร์ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าผู้ให้แสงสว่างเวลากลางคืน สัตพลีนอกจากมีหน้าที่จดความดีความชอบของเหล่าทหารแล้ว ยังมีบทบาทเด่นเป็นผู้เขียนสารส่งไปยังกรุงลงกา ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นอาลักษณ์แห่งเมืองขีดขิน

8. สุรกานต์ – วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีเหลืองจำปา หรือ สีแดงชาด หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระมหาชัย เทพเจ้าแห่งชัยชนะ สุรกานต์เป็นผู้คุมกำลัง 30 สมุทรมาช่วยพระรามรบ เมื่อเสร็จศึกแล้วได้ครองเมืองโรมคัล

9. สุรเสน – วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีแสด หรือ สีเขียว บางตำราว่าสีแดงเจือเขียว หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระพุธ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าแห่งวาจาและพาณิชย์ สุรเสนมีความเก่งกาจเกือบเทียบได้กับหนุมานเมื่อเสร็จศึกได้ไปครองเมืองอัสดงค์ของสัทธาสูร

10. นิลขัน – วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีหงดิน หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระพิฆเนศ พระวิฆเนศ เทพเจ้าแห่งศิลปะ

11. นิลปานัน – วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีสำริด หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระราหู เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าผู้สถิตอยู่บนก้อนเมฆ

12. นิลปาสัน – วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีเลื่อมเหลือง หรือ สีหมากสุก หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระศุกร์ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าแห่งความรัก ความงาม และความสันติ

13. นิลราช – วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีน้ำไหล หรือ สีฟ้าอ่อนเจือเขียว หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระสมุทร เทพเจ้าประจำมหาสมุทร นิลราชนอกจากมีบทบาทสำคัญในการรบแล้ว ยังมีหน้าที่เอาก้อนหินไปถมทะเลในตอนจองถนน เพราะต้องคำสาปของฤๅษีคาวิน ว่าเมื่อเอาสิ่งใดทิ้งน้ำให้จมอยู่กับที่ จึงต้องเป็นผู้อาสาเอาศิลาไปทิ้งทะเลแต่ผู้เดียวจึงจะพ้นคำสาป

14. นิลเอก – วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีทองแดง หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระพินาย วินายก นิลเอกคือผู้ที่ไปช่วยพระลักษณ์ทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทรชิต

15. วิสันตราวี – วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีลิ้นจี่ หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระอังคาร เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าแห่งสงคราม

16. กุมิตัน – วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีทอง หรือ สีเหลืองรง หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระเกตุ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าผู้คุ้มครองสวัสดิมงคล

17. มายูร – วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีม่วงอ่อน หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือท้าววิรูปักษ์ ราชาแห่งนาค จตุโลกบาล ประจำ ทิศตะวันออก

18. เกสรทมาลา ลิงตัวหอม – วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีเหลืองอ่อน หรือ สีเลื่อมเหลือง หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระไพศรพณ์ พระพนัสบดีเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ในป่า คุณสมบัติพิเศษคือ มีกลิ่นกายหอมสดชื่น มีหน้าที่อยู่ใกล้ ๆ องค์พระราม ให้กลิ่นกายไปสร้างความสดชื่นให้กับพระองค์

มูลเหตุที่ทำให้คำว่า “สิบแปดมงกุฎ” กลายความหมายมาเป็นคำไม่ดี

มีที่มาจากเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีกลุ่มนักเลงการพนันใหญ่ที่ถือว่ามีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น ตามร่างกายจะนิยมสักรูปมงกุฎจนเป็นที่มาของสำนวน “สิบแปดมงกุฎ”ในทางร้าย อันหมายถึง พวกนักเลงการพนัน พวกที่มีเล่ห์เหลี่ยมกลโกง นักต้มตุ๋น ด้วยเหตุนี้ชื่อเสียงเกียรติคุณดีๆของวานรสิบแปดมงกุฎ(เทวดา) จึงเลือนหายไปและกลายความไปในที่สุด

ในหนังสือ “สำนวนไทย” ของ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) เขียนไว้ว่า “สิบแปดมงกุฎ” นำมาใช้เป็นสำนวนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีนักเลงการพนันใหญ่ลือชื่อพวกหนึ่งที่กล่าวกันว่าเป็นนักเลงชั้นยอด มีการสักตามตัวเป็นรูปมงกุฎ จึงเรียกว่า สิบแปดมงกุฎ ตามเรื่องราวในรามเกียรติ์ จากนั้นหากใครเป็นนักเลงการพนันก็เลยเรียกว่า สิบแปดมงกุฎ

ปัจจุบัน “สิบแปดมงกุฎ” มิใช่สำนวนที่ใช้เรียกพวกนักเลงพนันเท่านั้น แต่ใช้เรียกพวกมิจฉาชีพทั้งหลาย เป็นสำนวนที่พบเห็นบ่อยมากตามสื่อมวลชนต่างๆ หมายถึงพวกที่ยักยอก ต้มตุ๋น หลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อแล้วยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินผู้อื่นมาเป็นของตน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก th.wikipedia / oknation.net /เฟส Thaitone