เปรู ขุดพบฟอสซิลวาฬยุคดึกดําบรรพ์ คาดเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่-หนักที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา

15786
views

นักบรรพชีวินวิทยาในเปรู ขุดพบฟอสซิลวาฬโบราณยุคดึกดําบรรพ์ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าฟอสซิลดังกล่าวเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่า Perucetus colossus (อ่านว่า เปอร์-อู-ซี-ทัส)  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล บรรพบุรุษของวาฬและโลมา และมีชีวิตอยู่ราว 38-40 ล้านปีก่อนในยุคอีโอซีน (Eocene) สิ่งมีชีวิตชนิดนี้มีลักษณะคล้ายพะยูน และอาจมีขนาดตัวใหญ่กว่าวาฬสีน้ำเงิน โดยมีน้ำหนักตัวที่มากถึง 340 ตัน คาดว่ามันอาจจะเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้

นักบรรพชีวินวิทยาประเมินว่า Perucetus  มีความยาวประมาณ 20 เมตร และมีน้ำหนักถึง 340 เมตริกตัน ซึ่งเป็นน้ำหนักที่มากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่เราเคยรู้จักมาก รวมทั้งวาฬสีน้ำเงินและไดโนเสาร์ โดยชื่อวิทยาศาสตร์ของมันมีความหมายว่า “วาฬเปรูขนาดมหึมา”

Giovanni Bianucci นักบรรพชีวินวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยปิซาในอิตาลี ทั้งยังเป็นผู้เขียนงานวิจัยลงในวารสาร Nature กล่าวว่า “คุณสมบัติหลักของสัตว์ชนิดนี้คือน้ำหนักที่มาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวิวัฒนาการสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเหนือจินตนาการของเราได้”

การประเมินน้ำหนักขั้นต่ำของวาฬ Perucetus คาดว่าอยู่ที่ 85 ตัน ขณะที่น้ำหนักเฉลี่ยคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 180 ตัน โดยวาฬสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดที่เรารู้จักมีน้ำหนักประมาณ 190 ตัน แม้ว่าขนาดตัวของพวกมันจะอยู่ที่ 33.5 เมตร ซึ่งยาวกว่า Perucetus ก็ตาม

ขณะที่ทางฝั่งไดโนเสาร์อย่าง Argentinosaurus ซึ่งเป็นสัตว์กินพืชสี่ขาคอยาว อาศัยอยู่เมื่อประมาณ 95 ล้านปีก่อนในอาร์เจนตินา และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีน้ำหนักราว 76 ตัน

โครงกระดูกบางส่วนของ Perucetus ซึ่งประกอบด้วย กระดูกสันหลัง 13 ชิ้น กระดูกซี่โครง 4 ชิ้น และกระดูกสะโพก 1 ชิ้น กระดูกสันหลังแต่ละส่วนของ Perucetus นั้นหนักมาก (น้ําหนักเบาที่สุดมีน้ําหนักมากกว่า 100 กก.) ถูกขุดพบในทะเลทรายชายฝั่งทางตอนใต้ของเปรู ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยฟอสซิลของวาฬ

โดยลำพังแค่มวลโครงกระดูกของ Perucetus ก็มีน้ำหนักอยู่ที่ราว 5-8 ตันแล้ว ซึ่งเป็นน้ำหนักที่มากกว่าวาฬสีน้ำเงินอย่างน้อยสองเท่า

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการขุดพบซากกระโหลกศีรษะหรือฟันของ Perucetus ทำให้นักวิจัยยังตีความได้ยากว่าพวกมันเป็นสัตว์กินพืชหรือกินเนื้อ และมีวิถีชีวิตอย่างไร ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่าพวกมันอาจไม่ใช่นักล่าที่ว่องไวนักจากโครงสร้างร่างกายอันมหึมา แต่เป็นสัตว์ที่หากินบริเวณน้ำตื้น ใกล้กับชายฝั่ง

“บางที Perucetus อาจจะเป็นสัตว์กินพืชเหมือนพวกไซเรเนียน (วงศ์พะยูน) แต่ก็อาจมีความคล้ายกับพวกวาฬ พวกมันอาจกินหอยขนาดเล็กและกุ้งบริเวณหน้าดิน แต่คิดว่าพวกมันน่าจะไม่มีอวัยวะกรองอาหารจากมวลน้ำ (Filter feeders) เหมือนวาฬบาลีนหรือวาฬสีน้ำเงิน ” นักวิจัยกล่าว

ลักษณะโครงกระดูกบ่งชี้ว่า Perucetus มีความเกี่ยวข้องกับ Basilosaurus ซึ่งเป็นวาฬยุคแรกอีกชนิดหนึ่งที่มีความยาวใกล้เคียงกันแต่มีขนาดตัวเล็กกว่า อย่างไรก็ตาม Basilosaurus เป็นสัตว์นักล่าที่ว่องไวจากร่างกายที่ปราดเปรียว ขากรรไกรทรงพลัง และฟันขนาดใหญ่

นักวิจัยชี้ว่า Perucetus แสดงให้เห็นว่าสัตว์จำพวกวาฬพัฒนาความใหญ่โตอย่างน้อยสองครั้ง หนึ่งคือช่วงไม่นานมานี้ กับการวิวัฒนาการของวาฬบาลีนขนาดใหญ่ และเมื่อประมาณ 40 ล้านปีก่อนจากวิวัฒนาการของสัตว์เครือญาติ Basilosaurus โดย Perucetus ถือเป็นตัวแทนของวิวัฒนาการในครั้งนี้ที่น่าทึ่งที่สุด

ข้อมูล-posttoday  /  ภาพ-meteoweb.eu