“วันอาสาฬหบูชา” วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา หรือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่า”ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”

5265
views

วันอาสาฬหบูชา ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2567 ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีมะโรง ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา หรือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมือง พาราณสี หลังทรงตรัสรู้ได้ ๒ เดือน

“วันอาสาฬหบูชา” เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท คำว่า “อาสาฬหบูชา” ย่อมาจาก“อาสาฬหปูรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญ เดือนอาสาฬหะ” ตรงกับ วันเพ็ญ เดือน ๘ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย

“วันอาสาฬหบูชา” เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ๒ เดือน ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี แคว้นกาสี เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ( การแสดงธรรมครั้งแรก ) หลังจากทรงตรัสรู้ ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แก่พราหมณ์ปัญจวัคคีย์ ในการแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้ “พราหมณ์โกณฑัญญะ” ๑ ใน ๕ ปัญจวัคคีย์ เกิดดวงตาเห็นธรรม(ธรรมจักษุ) บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับ“พระโสดาบัน” ท่านจึงได้อุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า และ เป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้ง พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า “วันพระธรรม” หรือ “วันพระธรรมจักร” อันได้แก่ วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และถูกเรียกว่า “วันพระสงฆ์” คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย

“ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” มีเนื้อหาแสดงถึงการปฏิเสธส่วนที่สุด ๒ อย่าง ( การปฏิบัติที่สุดโต่ง ๒ สาย ที่ชาวอินเดียในยุคสมัยนั้นเชื่อกันว่าเป็นหนทางที่ไปสู่ความหลุดพ้น ) ดังในพระธรรมเทศนาที่ว่า “เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา = “ภิกษุทั้งหลาย การปฏิบัติที่สุดโต่ง ๒ อย่างนี้ บรรพชิตไม่ควรข้องเกี่ยว(ไม่พึงเสพ) ) คือ การเพลิดเพลินยินดีในกามคุณ กับ การเบียดเบียนตนให้ลำบากเป็นทุกข์หาประโยชน์มิได้ ที่เรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” กับ “อัตตกิลมถานุโยค” มาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตโดยทางสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” แสดงถึงขั้นตอนและแนวทางในการปฏิบัติ คือ “อริยมรรคมีองค์ ๘” โดยเริ่มจากทำความเห็นให้ถูกต้อง(สัมมาทิฏฐิ)ก่อน เป็นขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวงอันถึงที่สุด ได้แก่ การบรรลุ “พระนิพพาน” ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา.
….. # ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม.

วันอาสาฬหบูชา

หมายเหตุ :
ป่ามฤคทายวัน ในสมัยพุทธกาล คงเป็นไพรสณฑ์ที่เหล่ากวางสามารถท่องเที่ยวหากินโดยไม่มีภัย จึงได้ชื่อว่า “ป่ามฤคทายวัน” หมายถึง “ป่าให้อภัยแก่เนื้อ” แต่ในปัจจุบันบริเวณนี้เป็นเพียงพื้นที่ราบลุ่ม มีชาวบ้านอยู่อาศัยทำไร่นา กล่าวกันว่าสมัยก่อนพุทธกาล พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมักเหาะจากภูเขาคันธมาทน์มายังป่าแห่งนี้ และพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆก็เหาะมาลงในป่านี้ เพื่อแสดงธรรมจักรซึ่งเป็นพระเทศนากัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ป่าแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “อิสิปตนะ” หมายถึง สถานที่เหาะลงมาของท่านผู้ประเสริฐ ”

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ในข้อที่ว่า “ อถโข ภควา ปญฺจวคฺคิเย ภิกฺขู อามนฺเตสิ “ เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา. ” นั้น

แปลอีกสำนวนหนึ่ง ตามสำนวนบาลีใหญ่ ก็ได้ว่า อถโข ครั้งนั้น ภควา อันว่าพระผู้มีพระภาค อามนฺเตสิ ตรัสเรียกมาแล้ว ปญฺจวคฺคิเย ภิกฺขู ซึ่งภิกษุทั้งหลาย ผู้มีในพวก ๕ อิติ ว่า ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนฺตา อันว่าส่วนที่สุดทั้งหลาย เทฺว ๒ อิเม เหล่านี้ ปพฺพชิเตน อันบรรพชิต น เสวิตพฺพา ไม่พึงเสพ.
# ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ #

 
ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร