ธรรมะบางตอน ที่สมเด็จองค์ปฐมตรัสสอนไว้

5438
views
รักษาอะไรไม่สำคัญเท่ารักษาจิตตนเอง... ธรรมะบางตอน ที่สมเด็จองค์ปฐมตรัสสอนไว้

รักษาอะไรไม่สำคัญเท่ารักษาจิตตนเอง… ธรรมะบางตอน ที่สมเด็จองค์ปฐมตรัสสอนไว้ เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง ค่อย ๆ อ่านโดยเอาความเข้าใจเป็นหลัก สมเด็จองค์ปฐมทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. เหนื่อยมากก็ให้พิจารณาว่า เหนื่อยครั้งนี้ขอทนเป็นครั้งสุดท้าย ตายเมื่อไหร่ก็ไม่ต้องกลับมาเหนื่อยอย่างนี้อีก (ทรงให้ใช้มรณาและอุปสมานุสสติอยู่เสมอ)

๒. มองร่างกายให้เป็นคุณบ้าง เพราะการมีร่างกายทำให้รู้ทุกข์อันเกิดจากร่างกาย ได้เห็นความโลภ-โกรธ-หลงจากจิตเกาะร่างกายนี้ หากมองในมุมที่เป็นโทษอย่างเดียว จะเห็นจิตตกเป็นทาสรับใช้กาย เช่นหิว-หนาว-ร้อน-หาปัจจัย ๔ ให้เพื่อร่างกายทุกอย่าง คิดแบบนี้บางขณะก็เกิดนิพพิทาญาณจิตเยื่อหน่ายเศร้าหมองได้ จึงต้องพิจารณาลงให้เห็นธรรมดาของกายมันเป็นอย่างนี้ จนจิตยอมรับตามความจริงให้ได้ จุดนั้นแหละจิตจักไม่เบื่อ มีแต่ปล่อยวางร่างกาย จิตเป็นสุขไม่ทุกข์ไปกับสภาวะที่แท้จริงของร่างกาย หรืออันใดในโลกอีกเลย

๓. การเห็นทุกข์ พิจารณาทุกข์ หาหนทางพ้นทุกข์ด้วยการปล่อยวางที่จิตตน นั่นแหละเป็นหนทางพ้นทุกข์ หากเห็นทุกข์แล้วพิจารณาไม่ถึงที่สุดด้วยปัญญา ก็ตัดไม่ได้ แต่กลับติดอยู่ในทุกข์ จึงไม่มีทางพ้นทุกข์ จักพ้นทุกข์ได้ บารมีต้องเต็มและพร้อมอยู่ในปัจจุบันเสมอ โดยรักษาศีล-สมาธิ-ปัญญา ให้พร้อมเป็นหนึ่งเดียว จึงจักเป็นมรรคปฏิปทาตามความเป็นจริงของหนทางดับทุกข์

๔. ให้มุ่งดูกิเลสของจิตตนเป็นสำคัญ อย่าไปมุ่งดูคนอื่น วัดดูตัวตัดความโกรธ-โลภ-หลงที่ตนทุกวัน อย่าไปวัดของคนอื่น

การเริ่มต้นการพิจารณากาย

๕. การพิจารณาให้เข้าสู่อริยสัจอยู่เสมอ เห็นทุกสิ่งในโลกไม่เที่ยงเป็นอนิจจัง ยึดเมื่อไหร่ทุกข์เมื่อนั้น การพิจารณาต้องเอาจริง-ต้องขยัน-ต้องเพียรต่อเนื่อง จึงจักตัดความเกาะติดได้ ยิ่งขี้เกียจกิเลสยิ่งหนาขึ้นทุกวัน เพราะไม่รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เวลาปฏิบัติธรรมเป็นอกาลิโก เป็นเวลาภายในของจิต

๖. จิตของเราจักต้องรักษาศีล-สมาธิ-ปัญญาให้ได้ด้วยชีวิตในทุกขณะจิตที่ระลึกได้ หากต้องการความเจริญของจิต ให้หมั่นสำรวจความบกพร่องของศีล-สมาธิ-ปัญญาของตนเองอยู่เสมอ ไม่ต้องดูความดี ให้ดูแต่ความชั่ว ละความชั่วได้หมดก็ถึงซึ่งความดีได้เอง

๗. การพิจารณาอย่าลืมตั้งอารมณ์ให้ถึงที่สุดของความดีในพุทธศาสนา คือพระนิพพานเสมอ ให้จิตชิน-เร็วและไวที่สุด

๘. ทุกอย่างที่กระทบอายตนะ ให้พยายามลงคำว่าสักแต่ว่าเท่านั้น ให้มีสติระลึกเสมอว่า ทุกสิ่งในโลกไม่ใช่ตัวตน-บุคคล-เรา-เขา เป็นเพียงแคสภาวะธรรมหรือกรรม เขาแสดงธรรมอยู่อย่างนั้นเอง ให้มองทุกสิ่งเป็นธรรมดาให้มากที่สุด แล้วจิตจักวางลงได้ในคำว่า สักแต่ว่า

๙. พิจารณาความไม่เที่ยงเข้าไว้เสมอๆ จักได้คลายความยึดลงได้ด้วยประการทั้งปวง แม้จักละได้ยังไม่สนิท ก็บรรเทาสักกายทิฏฐิลงได้ไม่มากก็น้อย

๑๐. สักกายทิฏฐิมีเป็นขั้นๆ หยาบ-กลาง-ละเอียด ตั้งแต่ปุถุชนถึงอรหันต์ ล้วนมีระดับทั้งสิ้น ดังนั้นการพิจารณาเข้าหาสัทธรรม ๕ ล้วนเป็นทุกข์ เพื่อให้เห็นทุกข์จากความไม่เที่ยงของร่างกาย เพื่อเข้าสู่อริยสัจ ตามระดับจิตนั้นๆ เห็น

ดวงจิต

๑๑. ทุกอย่างละที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น เท่ากับเดินมรรคด้วยจิต ทำให้ถูกทางแล้ว จักเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ง่าย

๑๒. ให้เห็นทุกข์ของการมีชีวิตอยู่ในโลกที่เร่าร้อนจากภัยนานาประการ ซึ่งเป็นธรรมดามิใช่ของแปลก เพราะทุกข์-ภัยเหล่านี้มีอยู่คู่กับโลกตลอดมาทุกพุทธันดร อย่าไปหวังแก้โลก อย่าไปหลงปรุงแต่งตามโลก ให้เห็นตัณหา ๓ ที่ครอบงำโลกให้วุ่นวายอยู่ทุกวัน

๑๓. มองทุกอย่างตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวางเสีย ด้วยเห็นทุกข์ เห็นความไม่เที่ยง น่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายินดี-ยินร้ายด้วยแม้แต่น้อย

๑๔. อย่าสนใจจริยาผู้อื่น ให้มองจิตตนไว้เป็นสำคัญ คอยโจทจิตตนเองไว้เสมอ ฝึกจิตให้ปล่อยบางทุกสิ่งในโลก เพราะการไปพระนิพพาน จิตติดอะไรแม้อย่างเดียวในโลกนี้ หรือไตรภพก็ไปไม่ถึง

กายและใจ

๑๕. ขันธ์ ๕ ยังอยู่ ยังต้องพิจารณาปัจจัย ๔ ซึ่งจำเป็นในการยังอัตภาพให้เป็นไป สักแต่ว่าเป็นเครื่องอยู่ สักแต่ว่าเป็นเครื่องอาศัย ทุกสิ่งอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ จึงทีอนัตตาไปในที่สุด จิตคลายความเกาะติดก็เป็นสุขสงบ ทำให้ชินเมื่อวาระกายจักพังมาถึง การตัด-วางร่างกายก็ไม่ยาก เพราะรู้แจ้งตามความเป็นจริงแล้ว จงอย่าประมาทในความตายก็แล้วกัน

๑๖. พิจารณากายและเวทนากลับไป กลับมา ไม่มีกายก็ไม่มีเวทนา ไม่มีเวทนาก็ไม่มีกาย แล้วให้เห็นปกติธรรมของรูป และนามซึ่งอาศัยกันและกัน จุดนี้พิจารณาให้ลึกลงไป จักเห็นความไม่มีในเรา ในรูป-นามได้ชัดเจน

๑๗. เราคือจิตที่ถูกกิเลสห่อหุ้มให้หลงติดอยู่ในรูป-ในนามมานับอสงไขยกัป หากไม่พิจารณาให้เห็นชัดในจุดนี้ ก็จักตัดความติดอยู่ในรูป-ในนามไม่ได้

ทุกข์เท่านั้น

๑๘. ให้เห็นกายนี้มีปกติธรรมอยู่ คือเกิดขึ้น-ตั้งอยู่ในความเสื่อมแล้วก็ดับไป หาสาระแก่นสารอันใดไม่ได้ การอยู่ก็เพียงเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปอย่างมัชฌิมาปฏิปทา หมายถึงดำริว่าจักไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วย

๑๙. มองกายนี้ให้เป็นสุสานฝังศพ ฝังเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ เพราะเกิดเท่าไหร่ ก็ตายหมดเท่านั้น เกิดกับตายเป็นเรื่องธรรมดาของกาย

๒๐. หากจิตติดอยู่กับธาตุ-อายตนะขันธ์ ก็ยังต้องเกิด ต้องตายอยู่กับร่างกายนี้อีกนับชาติไม่ถ้วน ดังนั้นหากยังอาลัยในชีวิตอยู่ ก็ยังไม่เข็ดกับการเกิดจริง เรื่องการปล่อยวางการเกาะกายจึงขึ้นอยู่กับจิตที่จักพิจารณาด้วยปัญญา และขึ้นอยู่กับสติ-สัมปชัญญะกำหนดรู้อยู่เสมอว่า ธาตุ-อายตนะขันธ์นี้ไม่มีในเรา-ไม่ใช่เรา

๒๑. การปฏิบัติจักต้องเอาจริง แต่อย่าเครียด อย่าหนักใจ เพราะอารมณ์นั้นมิใช่ของจริง ของจริงจักต้องสบายๆ ใจ และเข้าใจในบทพระธรรมคำสั่งสอนเพียงพอและปฏิบัติได้ตามนั้นด้วย

๒๒. พระกับคนสูงอายุ จงอย่าคิดหรือพูดตักเตือน เพราะมีสักกายทิฏฐิสูง มีความถือตัว ถือตนสูงเป็นธรรมดา ให้พิจารณาตรงๆ ว่ามิใช่ธุระอันใด หากจิตเกิดมีอารมณ์อยากกล่าวในลักษณะนี้ ก็ให้รีบระงับด้วยปัญญาว่า ไม่มีประโยชน์-มีแต่โทษให้ปล่อยวางธรรมภายนอกนั้นๆ เสีย หันมาแก้ธรรมภายในคืออารมณ์จิตของตนเองดีกว่า

๒๓. หวังดีกับผู้อื่น สู้หวังดีกับกาย-วาจา-ใจของตนเองไม่ได้ ทั้งนี้ มิใช่สอนให้เห็นแก่ตัว แต่เพียงให้รู้จักใช้ปัญญา พิจารณาธรรมทั้งหมดย้อนไป-ย้อนมา เพื่อสอนใจตนเองดีกว่าสอนใจผู้อื่น

๒๔. ให้ดูทุกคนต่างมีลีลาชีวิตต่างๆ กันไปตามกฎของกรรม ทุกอย่างเป็นธรรมดาที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป อย่าถืออะไรมาเป็นสาระที่จริงจังของชีวิต ยามมีชีวิตก็เกื้อหนุนกันไปตามพรหมวิหาร ๔ แต่จงอย่าเบียดเบียนตนเองให้มากเกินไป ทุกอย่างให้อยู่ในมัชฌิมาปฎิปทา

๒๕. อย่าไปขวางทางบุญ-บาปของใคร เพราะพื้นฐานของจิต และอารมณ์ที่จักเป็นบุญ และบาปในแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ดังนั้นจิตที่จักวางจริยาของผู้อื่นได้จริง จักต้องใช้ปัญญา พิจารณาจุดนี้ให้มากๆ แล้วลงตัวธรรมดาให้ได้ จึงจักปล่อยวางกรรมของผู้อื่นลงได้สนิท ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมเลว

ร่างกาย

๒๖. เกิดตายเป็นของคู่กัน เกิดเท่าไหร่ ตายหมดเท่านั้นเป็นธรรมดา แม้พวกเจ้าทั้งๆ ที่ระลึกถึงความตายก็ยังมีความประมาทแฝงอยู่มาก ให้คิดดู ๒๔ ชั่วโมง นึกถึงความตายอย่างยอมรับความจริงสักกี่ครั้ง การนึกถึงอย่างนกแก้ว นกขุนทอง หาได้เคารพนับถือจริงจังไม่ จึงได้ประโยชน์น้อย

๒๗. จำไว้มรณานุสสติ เป็นฐานใหญ่ทำให้จิตตนไม่ประมาทเห็นคุณค่าของชีวิตที่เหลืออยู่ ชีวิตจริงๆ ดังเช่นเปลวเทียนวูบๆ วาบๆ แล้วก็ดับหายไป เกิดใหม่ก็ดับอีก หากไม่เร่งรัดให้ปัญญาเกิด

๒๘. กายที่เห็นอยู่นี้มิใช่ของจริง ตัวจริงคือจิต ให้พิจารณาการทรงอยู่ของกายทุกลมหายใจเข้า-ออก ล้วนเป็นทุกข์จากความไม่เที่ยง ขณะนี้โลกภายนอกก็วุ่นวายสับสน-ไม่เที่ยงเหมือนกับขันธโลก มองทุกอย่างให้เป็นธรรมดาตามกฎของกรรม

๒๙. พระอรหันต์ท่านไม่มีอารมณ์ฝืน ย่อมไม่กำกรรมเพื่อใคร กรรมใครก็กรรมมันจริงๆ ส่วนพวกเจ้าวิริยะบารมียังอ่อน ยังขี้เกียจอยู่มาก ให้พยายามโจทจิตตนเอง และคอยแก้ไขจิตตนเองไว้ อย่าไปยุ่งกับจริยาของผู้อื่น ประคองจิตตนให้พ้นเป็นสำคัญ การสงเคราะห์ผู้อื่นเป็นหน้าที่ แต่อย่าเอาจิตเกาะกรรมของเขา มองให้เห็นธรรมดา แก้โลกไม่มีสิ้นสุด แก้ใจตนเองเป็นสิ้นสุดได้ ให้เคารพกฎของกรรม จิตจึงจักเป็นสุขได้ ดวงเมืองกำลังร้อน เรื่องบ้านเมือง เรื่องของผู้อื่นให้วางเฉย ทุกอย่างเป็นไปตามกฎของกรรม จิตอย่าไหวตาม เห็นทุกอย่างเป็นธรรมดาเข้าไว้

๓๐. รักษาอะไรไม่สำคัญเท่ารักษาจิตตนเอง ระวังอย่าให้จิตเศร้าหมอง เอาจิตเกาะกุศลดีกว่า เกาะอกุศล

๓๑. ทำบุญ-ทำทานทุกอย่างมุ่งพระนิพพานจุดเดียว โดยไม่หวังผลตอบแทน จัดเป็นจาคานุสสติ และอุปสมานุสสติ

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน