ยูเนสโก เตรียมยก ‘ประเพณีสงกรานต์ไทย’ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ชิ้นที่ 4 ของไทย

209
views

องค์การยูเนสโก (UNESCO) เตรียมยก ‘ประเพณีสงกรานต์ไทย’ (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น เพื่อพิจารณาในที่ประชุม ให้เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ”ภายในเดือนธันวาคม 2566 นี้

UNESCO Enlists Songkran in Thailand To Consider As the World’s Intangible Cultural Heritage คุณค่าแห่งวัฒนธรรมไทยระบือไกลไปทั่วโลก “ประเพณีสงกรานต์” จ่อขึ้นเป็นมรดกโลก : ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ชิ้นที่ 4 ของไทย
ต่อจาก โขน (ขึ้นทะเบียนในปี 2561)
นวดไทย (ขึ้นทะเบียนในปี 2562)
และโนรา (ขึ้นทะเบียนในปี 2564)

โดย องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้นำ “ประเพณีสงกรานต์” (Songkran in Thailand, Traditional Thai New Year Festival) เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น เพื่อการพิจารณาในที่ประชุมในช่วงปลายปี 2566 ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage – ICH) รอติดตามกันต่อไป

สำหรับประเพณีสงกรานต์ของไทย เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ งดงาม และมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม จนเป็นที่รู้จักของชาวโลก ประกอบด้วย

สรงน้ำพระ

1. การสรงน้ำพระ ทั้งที่บ้าน และที่วัด เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงการทำบุญตักบาตรไหว้พระ
2. การรดน้ำให้กันและกัน เป็นการอวยพรปีใหม่
3. การรดน้ำผู้ใหญ่ เป็นการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ ที่เคารพ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์
4. การดำหัว เป็นพิธีสงกรานต์ทางภาคเหนือ โดยจะคล้ายกับการรดน้ำผู้ใหญ่ในภาคกลาง เป็นการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่
5. การขนทรายเข้าวัด มีความเชื่อว่า เพื่อความเป็นมงคล ให้มีความสุขความเจริญ
6. การละเล่นกีฬาพื้นบ้าน รวมไปถึงวัฒนธรรมในเรื่องของอาหารการกิน

ทั้งนี้ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage – ICH) ไม่ใช่มรดกโลก (World Heritage site) แต่เทียบเท่า “มรดกโลก” เนื่องจากองค์การ UNESCO ได้ระบุไว้ว่า “มรดกโลก” ใช้เรียกเฉพาะสถานที่เท่านั้น เช่น แหล่งโบราณคดี, อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น

ขณะที่ ‘มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม’ ใช้เรียกเฉพาะหมวดหมู่ในวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ การปฏิบัติ การเป็นตัวแทน การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งชุมชน กลุ่มชน และในบางกรณีปัจเจกบุคคลยอมรับว่า เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน

ทั้งนี้ ‘มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม’ ของประเทศไทย ยังมีอีกหลายรายการเตรียมพิจารณาลงทะเบียนกับองค์การ UNESCO ได้แก่ มวยไทย, ผีตาโขน, กัญญาไทย, อาหารไทย (ข้าวแกง) และข้าวเหนียวมะม่วง เป็นต้น