“เราไม่มีบุญคุณต่อลูกและลูกไม่มีบุญคุณต่อเรา” คนสมัยนี้เลิกกตัญญูกันแล้ว?

1845
views

“เราไม่มีบุญคุณต่อลูกและลูกไม่มีบุญคุณต่อเรา”

‘คนสมัยนี้เลิกกตัญญูกันแล้ว’ คุยกับพระอาจารย์ในแง่งามของความกตัญญู จริงๆแล้วเป็นอย่างไร

“ลูกเกิดจากความต้องการของพ่อแม่เพียงฝ่ายเดียว ลูกไม่ได้ขอเกิด เมื่อคุณสร้างเขาขึ้นมา ก็ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเองในการให้การเลี้ยงดูลูก พ่อแม่ไม่ได้ถือว่ามีบุญคุณต่อกัน เข้าใจเสียใหม่ด้วย”

ได้อ่านคอมเมนต์ความคิดเห็นของคนสมัยนี้ หลายคนตกใจในแนวคิดสุดโต่งที่แตกต่างจากสิ่งที่เราถูกปลูกฝังกันมาเนิ่นนานในสังคมไทย

“เป็นลูกต้องกตัญญูต่อพ่อแม่”

“กตัญญูแล้วจะเจริญ”

“คนอกตัญญูเป็นคนที่น่ารังเกียจ ไม่มีใครปรารถนาจะคบหาสมาคมด้วย เพราะพ่อแม่ตัวเองยังทอดทิ้งได้ คนอกตัญญูจึงเป็นคนชั่วที่ควรประณาม”

มีคำกล่าวในทางพระพุทธศาสนาว่า “ถึงจะให้แผ่นดินทั้งหมดแก่คนอกตัญญู ก็ไม่อาจจะทำให้เขายินดี มีความรู้สึกถึงบุญคุณได้”

กลายเป็นว่าความกตัญญูถูกผูกติดกับพระพุทธศาสนาไปโดยปริยาย ความจริงแล้วเป็นอย่างนั้นหรือไม่ พุทธศาสนากับความกตัญญูเชื่อมโยงกันอย่างไร พระมหาทรงศักดิ์ จิรสุโภ จากวัดปากน้ำนนทบุรี มาช่วยตอบคำถามเรื่องของความกตัญญูว่าจำเป็นต่อความเป็นมนุษย์หรือไม่ อย่างไร.?

“คำตอบต่อคำถามนี้หวังจะมีผลสัมฤทธิ์แก่ผู้มีสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์เพียงพอ โดยจะตอบแบบลัด สั้นกระชับ เข้าใจโดยง่าย และจะไม่ใช้คำบาลีอะไรที่กำกวมเข้าใจยาก

“ก่อนจะตอบคำถามว่า ‘ความกตัญญูจำเป็นหรือไม่’ อาตมาขอให้ผู้อ่านทำจิตใจให้อยู่บนฐานแห่งสามัญสำนึก แล้วคิดตามตัวอักษรไปอย่างมีสติ เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบตามความคิดความรู้สึกของตัวเองจริง ๆ อันจะเป็นคำตอบที่สมเหตุสมผลแก่ผู้อ่านตามอุปนิสัยของแต่ละบุคคลไป

“เริ่มจากคำว่า “พ่อแม่ทำให้ลูกเกิดขึ้นมา” เมื่อเรามองโจทย์เพียงเท่านี้ เราก็จะมีความรู้สึก “ไม่ต่าง” กับมุมมองที่เรามีต่อสัตว์บางชนิดที่ไร้จิตใจ เช่น ยุง หรือหอย ที่มีหน้าที่สืบพันธุ์ให้กำเนิดสายพันธุ์เพิ่มสืบ ๆ ไป

“ขอให้ลองถามตัวเองว่า เราได้มองโจทย์แค่ในมุมนี้หรือเปล่า ถ้าใช่ เราก็จะได้คำตอบต่อความรู้สึกแบบนั้น เช่นว่าทำไมลูกจะต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ด้วยล่ะ ในเมื่อลูกไม่ได้ขอมาเกิด พ่อแม่ต่างหากที่มาทำให้เกิด พ่อแม่ก็ต้องมีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูไป ไม่จำเป็นจะต้องมีบุญคุณ และความรู้สึกอื่น ๆ

“แต่การมองเพียงว่า ‘พ่อแม่แค่ทำให้ลูกเกิดมา’ เป็นมุมมองที่คับแคบเกินไป เหตุผลไม่เพียงพอต่อคำตอบใด ๆ ได้เลย เพราะมุมมองที่จะมาซึ่งคำถามต่าง ๆ มันไปอยู่ตรงที่ว่า เมื่อพ่อแม่รู้ว่าได้มีลูกเกิดขึ้นแล้วนับแต่ในครรภ์ พ่อแม่ได้ทำอะไรบ้าง คำตอบทั้งหลายควรจะต้องมาจากโจทย์นี้ ไม่ใช่มาจากโจทย์แค่ว่าพ่อแม่ทำให้ลูกเกิดและลูกไม่ได้ขอมาเกิด”

แปลว่าคนเราเดี๋ยวนี้มีมุมมองเรื่องความกตัญญูที่ต่างออกไป จะเพราะค่านิยม ความเข้าใจผิดหรืออะไรก็ตาม แต่ยังไงก็แล้วแต่ความกตัญญูก็ยังคงเป็นเรื่องของสามัญสำนึกอยู่ดี

“เป็นความเข้าใจผิดอย่างมากที่คิดว่าความกตัญญู มีไว้เพื่อตอบแทนต่อการที่ลูกได้เป็นผลิตผลจากพ่อแม่ แท้ที่จริงแล้วความกตัญญูคือการตอบแทนที่ปราศจากการเรียกร้องใด ๆ จากการที่พ่อแม่มีความรักต่อลูก เป็นผู้ให้ทุกสิ่งแก่ลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข เลี้ยงดู ทะนุถนอม ห่วงใย ปกป้อง มีแต่ความปรารถนาที่ดีแก่ลูก ฯลฯ จวบจนลูกเติบใหญ่ พ่อแม่ที่แก่เฒ่าชราลงไป ความรู้สึกต่อลูกก็ไม่ได้หมดไปตามกาลเวลา

“แน่นอนว่า ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ทุกคนจะเป็นเช่นนี้ อาตมาพูดในมุมส่วนใหญ่ ซึ่งย่อมมีสำนึกคล้าย ๆ กันแบบเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัขและแมวที่เราคุ้นเคยกันดี เร็ว ๆ นี้หลายคนคงได้ข่าวที่แม่แมวตัวหนึ่ง ฝ่ากองเพลิงไปคาบลูกออกมาทีละตัวครบทั้งห้าตัว จนตัวมันเองบาดเจ็บจากไฟ

“ในสายตาของผู้ที่เห็นภาพนี้ ย่อมต้องรู้สึกถึงความรักของแม่แมวที่มีต่อลูกของมันที่มากกว่าแค่เพียงสัญชาติญาณ เพราะมันกลัวลูกได้รับอันตราย จึงเข้าไปช่วยลูกอย่างไม่คิดถึงชีวิตตัวเอง ขณะเดียวกันเรายังได้มองไปถึงความรู้สึกที่ว่า ลูกแมวเหล่านั้นช่างเป็นหนี้บุญคุณแม่ของพวกมันมากเพียงใด

“นี่ขนาดสัตว์เดรัจฉาน เราเองยังรู้สึกกับพวกมันทั้งสองฝั่งได้เช่นนี้ แต่การที่คนบางคนมองว่าความกตัญญูไม่ใช่เรื่องจำเป็นของลูก สาเหตุคงมาจากเพราะเขาโฟกัสไปแค่ว่าพ่อแม่ทำให้เขาเกิดมาเท่านั้น ไม่ได้คิดไกลกว่านั้น และไม่ว่าจะด้วยได้ยิน ได้ฟัง หรือได้อ่านแนวคิดของใครมาก็ตาม แต่มันก็ได้ทำให้เขาเห็นแค่จุดนี้เป็นสำคัญ สามัญสำนึกที่จะก่อเกิดความรู้สึกกตัญญูรู้คุณจึงไม่เกิดขึ้นในจิตใจ”

แน่นอนว่าถ้าพ่อแม่เลี้ยงดูมา เราก็พร้อมจะกตัญญูต่อท่านอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่สมัยนี้มีพ่อแม่มากมายที่ทิ้งขว้างลูกตัวเอง เลี้ยงก็ไม่ได้เลี้ยง จะเอาแต่เงินจากลูก ทำให้คำถามที่ว่า “ลูกยังจำเป็นต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ที่เป็นแบบนี้หรือไม่.?

“การถูกเรียกร้องจากบุคคลที่มีบุญคุณ เช่น จากพ่อแม่นั้น ต้องเข้าใจว่า นั่นไม่ใช่เรื่องของเราเลย นั่นเป็นปัญหาของท่าน แต่การที่เราไม่รู้สึกที่จะกตัญญูรู้คุณใคร นั่นแหละคือปัญหาของเรา มันคนละส่วนกัน คนเราย่อมมีทั้งดีและไม่ดี คนไม่ดีย่อมทำหน้าที่ของตัวเองอย่างไม่ดี

“เช่น เป็นพ่อที่ไม่ดี เป็นแม่ที่ไม่ดี เป็นสามีที่ไม่ดี เป็นภรรยาที่ไม่ดี เป็นลูกที่ไม่ดี เป็นเพื่อน เป็นญาติที่ไม่ดี ฯลฯ นั่นเป็นเรื่องปัจเจกชน เราจะเอาเรื่องพ่อที่ข่มขืนลูก แม่ที่ทิ้งลูกลงชักโครก มาเป็นเหตุผลว่าไม่ต้องกตัญญูต่อพ่อแม่นั้นไม่ได้

“จริง ๆ แล้วความกตัญญู ไม่จำเป็นต้องเป็นคำสอนทางศาสนาด้วยซ้ำไป เพราะมันสำนึกได้เองเช่นเดียวกับความรักที่ไม่ต้องมีใครสอน แม้แต่สัตว์ที่ฟังธรรมะไม่รู้เรื่องก็รู้สึกกตัญญูได้ คำสอนทางศาสนาเรื่องบุญคุณจึงแทบไม่จำเป็นสำหรับคนปกติที่มีสามัญสำนึกที่ดี คือมันรู้ได้เองว่าเป็นสิ่งที่ตนควรมี ควรเป็น

“ดังนั้นไม่ว่าใครจะนับถือศาสนาไหนก็ตาม รวมถึงผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใด ๆ เลยอย่างเอทิสต์ ก็ต้องมีคุณสมบัติแห่งความเป็นมนุษย์นี้อยู่ จะมีก็แต่ผู้ที่หลงผิด รู้มาผิดๆ มีแนวความคิดผิด ๆ เท่านั้น ที่จะมี Negative question แบบนี้ได้”

สิ่งสุดท้ายที่เรามักได้ยินเกี่ยวกับความกตัญญูก็คือ “ถ้าเรากตัญญูต่อพ่อแม่ พอเรามีลูก ลูกก็จะกตัญญูกับเรา” หรือบอกว่า “คนที่มีความกตัญญูจะตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” ในแง่ของพุทธศาสนาแล้วก็มีความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ไม่น้อย

“ความเชื่อที่ว่า ถ้ากตัญญูต่อพ่อแม่ ลูกก็จะกตัญญูกับเราเช่นกัน นั่นคือความเป็นไปได้อย่างมีเหตุผลคือการที่ลูกมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ก็มาจากการที่เขาได้เห็นการกระทำเช่นนี้ก่อนหน้านั้น คือเห็นพ่อแม่กตัญญูต่อปู่ย่าตายาย เขาเห็นว่าดีและทำตามก็เท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร

“ทำนองกลับกันต่อกรณีที่พ่อห้ามลูกสูบบุหรี่ แต่พ่อกลับสูบให้ลูกเห็น การห้ามลูกสูบก็อาจไม่ได้ผลเพราะเขามองเห็นว่าพ่อห้ามแต่พ่อก็ยังสูบ ฉันใดก็ฉันนั้น

“หรือคำพูดที่ว่า คนกตัญญู ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ อันนี้คือคำอุปมาอุปไมย และมีความเป็นไปได้มากอยู่แล้ว ที่คนกตัญญูจะถูกมองว่าเป็นคนดี จึงมักเป็นที่รักของคนทั่วไป เป็นเหตุเป็นผลในตัวมันเองคือคนดีก็ย่อมมีคนอยากคบหา หรือพร้อมช่วยเหลือเวลามีเรื่องคับขัน เพราะเขาเชื่อในความเป็นคนดีนั่นเอง พูดง่าย ๆ ว่ามีเครดิตดี ต่างกับคนที่อกตัญญูอย่างตรงกันข้าม ที่ไม่มีใครอยากไปเกี่ยวข้อง”

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าความกตัญญูไม่ได้ขึ้นอยู่กับสัญชาติ ศาสนา หรืออะไรเลย แต่การรู้บุญคุณคนเช่นนี้เป็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ต่างหาก

“การรู้บุญคุณ และตอบแทนคุณ (กตัญญูกตเวที) มันเป็นเนื้อในของความเป็นมนุษย์ทุกคน และไม่ใช่กตัญญูแค่ในกรณีบุพการี แต่ยังรวมถึงผู้มีบุญคุณแก่ตนทั้งหมด หรือแม้แต่กับสัตว์เดรัจฉานด้วยซ้ำไปอย่างกรณีสุนัขที่ปกป้องนายจนตัวตาย อย่างนี้ก็เป็นหนี้บุญคุณชีวิตสำหรับเจ้าของสุนัข

“คำว่า ‘มนุษย์’ แปลว่าผู้มีจิตใจสูง และความกตัญญูเป็นคุณสมบัติแห่งความเป็นมนุษย์ ถ้าใครสูญเสียตรงนี้ก็ไม่เรียกว่ามนุษย์ ใช้คำว่าสัตว์ในร่างมนุษย์ก็อาจยังสูงไป ไม่ยุติธรรมแก่สัตว์บางตัวที่มีใจสูงกว่า”

เจริญพร

*****

ข้อมูลต้นฉบับ : https://today.line.me/th/v2/article/ex26XZ