พิจารณาดูให้ดีๆ ที่ว่า “ของเรา” นั้นไม่จริง แต่ “ความจริง” เท่านั้นเป็นของเรา

1332
views
ความจริง เท่านั้นเป็นของเรา

พิจารณาดูให้ดีๆที่ว่า “ของเรา” นั้นไม่จริง แต่ “ความจริง” เท่านั้นเป็นของเรา

“คนเรานี้มักสร้างปัญหาให้แก่ตัวเอง คือตอนแรกก็ยึดติดหวงแหนในสิ่งทั้งหลาย และในบุคคลทั้งหลายที่ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ เมื่อไม่รู้เข้าใจความจริงและปฏิบัติให้ถูกต้องก็เกิดปัญหา ทั้งในแง่ที่ทำให้เกิดความทุกข์แก่ตนเอง และก่อความเบียดเบียนกันกับผู้อื่น

ที่ว่าก่อทุกข์แก่ตนเองก็คือ มีความยึดติดผูกพันเกินไปจนทำให้มีความห่วงหวงแหนบีบคั้นใจตัวเอง ตลอดจนมีความทุกข์โศกเศร้าเหี่ยวแห้งใจในยามพลัดพราก

วันสุดท้าย

ประการต่อไปก็ก่อความทุกข์ความเดือดร้อนแก่กันและกันในโลก เพราะเมื่อยึดติดหวงแหนก็ทำให้เห็นแก่ตน และเห็นแก่คนเฉพาะที่ตัวเองมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใกล้ชิด จนกระทั่งเกิดความลำเอียง แล้วก็ทำให้เกิดการเบียดเบียน ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นเพื่อเห็นแก่ตัวและกลุ่มพวกของตน อันนี้ก็เป็นต้นตอของปัญหาที่สำคัญในโลกมนุษย์

ไม่ใช่เพียงความยึดติดถือมั่นผูกพันเอนเอียงเท่านั้น มันยังพ่วงเอาความเข้าใจผิดมาด้วย ๒ ประการ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่สำคัญ คือ

ประการที่ ๑ คนเรานี้ทึกทักเข้าใจเอาเองว่า เรามีสิ่งต่างๆ เป็นเจ้าของสิ่งที่เรายึดถือครอบครองไว้ อันนั้นเป็นสมบัติของเรา เป็นของของเรา เรายึดถือคล้ายๆ กับว่ามันเป็นของของเราจริงจัง เมื่อมีความเข้าใจผิดยึดถือเป็นของเราจริงจังแล้วก็นึกว่าเราจะมีความสุขจากสิ่งเหล่านี้ มันจะให้ความสุขแก่เราแล้วจากนั้น

ประการที่ ๒ เมื่อแสวงหาสิ่งเหล่านี้ได้มาก ก็เข้าใจผิดต่อไปอีกว่าเรามีความเป็นอิสระจะทำอะไรก็ได้ เรายิ่งใหญ่ คนที่หาทรัพย์สินเงินทอง มีพวกพ้องบริวาร ครองอำนาจได้มากมาย ก็ถือว่าตัวนี้เก่ง เป็นคนที่ยิ่งใหญ่ เป็นอิสระ มีอิสรภาพที่แท้จริง

 ทะเล

ความเข้าใจอย่างนี้ถูกต้องหรือเปล่า อันนี้ที่แท้แล้ว เป็นความเข้าใจผิด ลองมาพิจารณากันให้ถูกต้อง

ประการแรก ที่เราบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของของเราเป็นสมบัติของเรานั้น ที่แท้แล้วมันเป็นของเราจริงหรือเปล่า ที่จริงก็เป็นเพียงสมมติ คือว่าไปตามที่ตกลงกันในหมู่มนุษย์ที่ยอมรับการเข้าไปยึดถือครอบครอง

ถ้ามนุษย์ไม่ยอมรับกัน มันจะเป็นสมบัติของเราได้หรือเปล่า เอาแค่นี้ก็ไม่ได้แล้ว ที่เป็นอย่างนี้ได้ ก็เพราะโลกยอมรับ สังคม กำหนดกติกาขึ้น โดยสัมพันธ์กับการที่มนุษย์พัฒนาจิตใจขึ้นมา ถ้ามนุษย์ไม่ยอมรับกันก็เป็นสมบัติของเราไม่ได้ ใครเขาจะมาทำอย่างไร เราก็ไม่สามารถจะถือสิทธิได้ เพราะมันไม่ใช่ของเราจริง แต่มันเป็นของธรรมชาติ คือ มันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเราจริง เราจะปรารถนาว่าให้มันเป็นอย่างนี้ ให้มันเป็นอย่างโน้น ไม่ให้เป็นอย่างนั้น อะไรตามที่เราปรารถนาไม่ได้

ทะเล

แต่สิ่งทั้งหลายนั้นเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน สิ่งทั้งหลายไม่ได้เป็นไปตามปรารถนาของคนที่มายึดถือเป็นเจ้าของ แต่มันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

เราอยากให้อะไรเป็นอย่างไร ก็ต้องทำเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นอย่างนั้น ถึงอยากเท่าไร ถ้าไม่ทำเหตุปัจจัย ก็ไม่สำเร็จ มีแต่จะทำให้ช้ำใจ เพราะความอยากเป็นได้แค่สมุทัย ถ้าจะให้สำเร็จ ก็ต้องใช้ปัญญาทำการที่ตัวเหตุปัจจัย จึงจะเป็นมรรคและได้ผล เพราะปัญญาเป็นองค์ของมรรคาที่แท้ และสำเร็จด้วยการกระทำที่เป็นเหตุปัจจัย

ในที่สุดแล้ว สิ่งที่เรายึดถือเป็นสมบัติครอบครองนั้น มันเป็นสมบัติของธรรมชาติต่างหาก ไม่ใช่สมบัติของเรา มันเป็นสมบัติของธรรมชาติ เพราะว่ามันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเป็นต้น เอาเข้าจริงมันก็หมุนเวียนไปตามคติของธรรมชาตินั่นแหละ มันไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาของมนุษย์หรอก เราได้แต่มายึดถือกันตามสมมติชั่วคราวเท่านั้น อันนี้เป็นความจริงที่แน่นอน

ร่างกาย

ลองถามตัวเองดูว่าสิ่งของทั้งหลายและผู้คนที่เรายึดถืออยู่นี้เป็นของเราจริงหรือเป็นของธรรมชาติ ก็จะตอบได้ชัดเจนแน่นอนว่าเป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาของเรา อันนี้เป็นเรื่องของความเข้าใจผิดประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง มนุษย์มีความเข้าใจแบบพร่าๆ หลอกตัวเองไว้ว่า สิ่งที่เราไปยึดถือครอบครองนี้ ยิ่งยึดถือครอบครองไว้ได้มาก ก็จะทำให้เรามีความสุขได้มาก เพราะฉะนั้น คนจึงแสวงหากันใหญ่ แสวงหาลาภ ผลประโยชน์ ทรัพย์สิน เงินทอง เอาวัตถุอามิสต่างๆ มาบำรุงบำเรอความสุขของตนเอง ด้วยการบำเรอตา บำเรอหู บำเรอจมูก บำเรอลิ้น บำเรอสัมผัสกายของตน ถือว่าใครมีมากคนนั้นก็มีความสุขมาก นึกว่าอย่างนั้น

พระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าก็ทรงยอมรับว่านี่เป็นความสุขชนิดหนึ่ง ท่านไม่ได้ปฏิเสธ แต่ปัญหาว่าเรารู้จักความสุขนั้นตามความเป็นจริง หรือว่ารู้ความจริงของความสุขนั้นหรือเปล่าว่า มันแค่ไหน มีแง่ดีแง่เสียอย่างไร มีต่อไปอย่างอื่นอีกไหม เป็นต้น ถ้าเรารู้ความจริงและปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง ความสุขนั้นก็ใช้ได้ และยังเป็นตัวต่อไปสู่ความสุขที่ยิ่งขึ้นไป แต่ถ้าไม่รู้เท่าทันความจริงแล้ว ความสุขชนิดนี้จะก่อความทุกข์ให้อย่างมหันต์ที่เดียว

ในหลักพระพุทธศาสนา ท่านถือว่าความสุขแบบใช้อามิสวัตถุมาเสพบำเรอตา หู จมูก ลิ้น และสัมผัสกายนั้น ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง เรียกว่าความสุขจากการเสพอามิส หรือความสุขที่อาศัยวัตถุ ขึ้นต่อสิ่งภายนอก เรียกเป็นภาษาพระว่า สามิสสุขแปลว่า ความสุขที่อาศัยอามิส เพราะเหตุที่ความสุขนั้นอยู่ที่สิ่งภายนอก เราจึงเห็นว่าถ้าเรามีวัตถุมากๆ เราก็จะมีความสุขมาก แต่มองอีกทีหนึ่ง พอหาวัตถุอามิสมากขึ้นๆ เราไม่รู้ตัวว่า ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าความสุขของเราและชีวิตของเราเองนี่ไปขึ้นต่อสิ่งเหล่านั้นหมด

เมื่อเอาความสุขของตัวเองไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านั้น คนจำนวนมากก็ไม่สามารถมีความสุขได้ด้วยตัวเอง พอไปหาสิ่งเหล่านั้นมามากขึ้นๆ คิดว่าตัวเองมีความสุขที่แท้กลายเป็นเอาความสุขของตัวเองไปไว้ที่สิ่งเหล่านั้น จนกระทั่งในที่สุดไม่สามารถมีความสุขได้โดยลำพังตนเอง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้วก็มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน กระวนกระวาย เพราะฉะนั้นคนที่ดำเนินชีวิตโดยวิธีนี้ จึงดำเนินชีวิตไปสู่ความสูญเสียอิสรภาพ

มองอย่างผิวเผินเขาเข้าใจว่าตนเองมีอิสรภาพ โอ้โฮ นี่ฉันเป็นใหญ่ ฉันสามารถแสวงหาสิ่งทั้งหลายมาได้ตามใจชอบมากมาย ฉันมีความสุขมาก แต่เสร็จแล้วกลายเป็นว่าตัวเองนั้นไม่มีความสุขที่เป็นของตนเองเลย ความสุขอยู่ข้างนอก ความสุขขึ้นกับสิ่งเสพเหล่านั้นหมดเลย ยามใดไม่มีสิ่งเหล่านั้น หรืออวัยวะ ชีวิตของตน ตา หู จมูก ลิ้น และร่างกายของตนเสพอะไรไม่ได้ เช่น ยามป่วยไข้ หรือแก่ชรา ไม่สามารถหาความสุขจากสิ่งเหล่านั้นได้ ก็จะเกิดความทุกข์ มีความเดือดร้อนกระวนกระวายอย่างหนัก

พระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้รู้เท่าทันความจริงว่า ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งภายนอกซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ไม่ใช่ของเราจริงตามที่กล่าวแล้วข้างต้น นอกจากนั้นมันก็ไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริงที่จะให้ความสุข มันเป็นเพียงตัวประกอบของความสุขเท่านั้น ความสุขนั้นเราจะต้องสร้างสรรค์ให้มีในตัวเราให้มากขึ้น

คนที่ฉลาดจะอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นฐานในการที่จะพัฒนาตนเพื่อให้มีความสุขอยู่ในตัวเองมากขึ้นๆ เขาจะดำเนินชีวิตออกจากการพึ่งพาหรือจากความไม่มีอิสรภาพไปสู่ความมีอิสรภาพ อิสรภาพของมนุษย์นั้น คือ การที่มนุษย์สามารถอยู่ดีมีความสุขมากขึ้นโดยขึ้นต่อสิ่งภายนอกน้อยลงไม่ใช่อยู่ไปๆ ต้องขึ้นกับสิ่งภายนอกมากขึ้น

ให้กำลังใจตัวเอง

วิถีของมนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้ดูจะเป็นไปในทางตรงข้าม คือเข้าใจว่า ถ้ามีสิ่งเสพเหล่านั้นมากขึ้นตัวเองจะมีความสุข พร้อมกับการที่เข้าใจอย่างนี้ก็พัฒนาไปสู่การสูญเสียอิสรภาพ ในที่สุดตัวเองก็เลยไม่มีอิสรภาพเหลืออยู่ กลายเป็นทาสของสิ่งแวดล้อม มีความสุขที่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก เป็นทาสของวัตถุภายนอกโดยสิ้นเชิง

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เรารักษาอิสรภาพและพัฒนาอิสรภาพที่แท้จริงให้เกิดขึ้น ถ้าเรารู้เท่าทันความจริง เราจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นถูกต้องโดยใช้มันให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มคุณค่า ให้มันเป็นส่วนประกอบเสริมความสุข โดยที่ตัวเราเองสามารถมีความสุขได้โดยลำพังตนมากขึ้นๆ

คนที่พัฒนาตัวเองมากขึ้น มีความสุขอยู่ภายในจิตใจของตนเองอยู่แล้ว แม้ไม่มีสิ่งเหล่านั้นมาให้ความสุข ก็สามารถมีความสุขได้ เมื่อมีสิ่งเหล่านั้นมาเป็นตัวประกอบเราก็มีความสุขส่วนเสริมขึ้นอีก มีมันเราก็มีความสุข ไม่มีมันเราก็อยู่ได้ ไม่ใช่คนที่เป็นทาสของสิ่งภายนอก ซึ่งมีสภาพที่ว่า มีมันจึงอยู่ได้ ถ้าขาดมันแล้วชีวิตหมดความหมาย อยู่ไม่ได้เลย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

ฉะนั้น จะต้องพัฒนาชีวิตไปสู่ความมีอิสรภาพ ซึ่งหมายถึงอิสรภาพของความสุขด้วย คือความสุขที่มีได้โดยอิสระของตนเอง ความสุขที่เป็นไทแก่ตนเอง ที่ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอกมากเกินไป หรืออย่างน้อยมีความสุขที่เป็นอิสระของตนเองอยู่ภายในแล้ว ก็จะสามารถใช้อามิสวัตถุภายนอกเป็นเครื่องประกอบเสริมความสุขได้อย่างถูกต้อง และไม่เป็นโทษ

นอกจากนี้ ยังโยงต่อไปถึงการรู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งทั้งหลายที่ตัวเองได้สร้างขึ้นมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือสิ่งของก็ตาม”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์เรื่อง จะสุขแท้ต้องเป็นไท : ต้องสุขเองได้จึงจะช่วยโลกให้เป็นสุข