ตะลึง! พบแผ่นหินใน ‘น้ำตกโตนเกือก’ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ บางรอยมีลักษณะคล้ายพระเครื่องชื่อดัง

1188
views

กระบี่ – 27 พ.ค.- “อะเมซิ่ง โตนเกือก” แผ่นหินใต้น้ำตกพื้นที่ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ บางรอยมีลักษณะคล้ายพระเครื่องชื่อดัง ร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว-เรียนรู้

นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการที่ปรึกษานักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ทีมงานชมรมคนรักถ้ำกระบี่ ได้เดินทางสำรวจถ้ำ เพื่อจะหาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ในพื้นที่คลองเขาเขน บ้านศรีพระยา หมู่ 12 ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ได้ไปพบกับน้ำตกธรรมชาติแห่งหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านจะเรียกกันว่า “โตนเกือก” สร้างความตื่นเต้นแก่ทีมงานที่ไปสำรวจเป็นอย่างมาก

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ตื่นตา คือ ร่องรอยการกัดเซาะบนแผ่นหินใต้น้ำตก ซึ่งพบว่ามีร่องรอยที่แปลกประหลาด รูปร่างคล้ายกับพิมพ์พระเครื่องหลากหลายรูปแบบ ทั้งคล้ายพระสมเด็จ พระซุ้มกอ พระนางพญา เรียงกันอยู่บนแผ่นหินจำนวนมาก แต่ละบล็อกมีขนาดกว้าง 20 ซม. ยาว 30 ซม. สลับกันไป บางรอยก็มีลักษณะคล้ายกับพระเครื่องชื่อดัง บางรอยมีรูปร่างคล้ายรอยพระพุทธบาท ยอมรับว่าอึ้งกับสิ่งที่เห็น และอะเมซิ่ง ที่สุด ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน

สำหรับน้ำตกโตนเกือก เป็นน้ำตกเล็กๆ อยู่ในพื้นที่ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากนัก โดยกระแสน้ำจะไหลไปออกแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี การที่ทีมสำรวจไปพบรอยกัดเซาะในลำคลอง เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะเป็นผลงานประติมากรรมจากธรรมชาติ ที่สร้างลวดลายขึ้นมาเหมือนกับพิมพ์พระเครื่องดังๆ บางรอยก็มีรูปร่างคล้ายรอยเท้าคน คล้ายรอยพระพุทธบาท ซึ่งเชื่อว่าชื่อของน้ำตกแห่งนี้น่าจะมาจากรอยที่พบบนแผ่นหินด้วย

สำหรับที่มาของคำว่าโตนเกือก ที่ชาวบ้านเรียกชื่อน้ำตกแห่งนี้ มาจากคำว่า โตน ซึ่งแปลว่าน้ำตกเล็ก ๆ ส่วนเกือก ภาษาใต้ แปลว่ารองเท้า คนในอดีตอาจเห็นร่องรอยคล้ายกับรองเท้า จึงเรียกชื่อว่าโตนเกือก ซึ่งรูปแบบลานหินที่เห็นนั้น เท่าที่ตนเคยสำรวจถ้ำมาหลายพื้นที่ ก็ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน ถือเป็นสิ่งแปลกตามาก ทำให้ทีมงานที่ไปพบพากันทึ่งกับสิ่งที่ธรรมชาติสรรค์สร้าง หากเป็นไปได้ในอนาคต อยากให้หน่วยงานในพื้นที่ ลองเข้ามาสำรวจเพิ่มเติม แล้วผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกแห่งหนึ่ง

ด้านนายภาณุพงศ์ คงป่าน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 12 กล่าวว่า แผ่นหินรูปร่างต่างๆ ในคลองดังกล่าว เป็นสถานที่เก่าแก่สามารถเข้าไปชมได้แต่ห้ามลบหลู่หรือทำลาย มีตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้ .

-สำนักข่าวไทย