รู้จัก ‘โรคฝีดาษลิง’ ทำไมคนเกิดหลังปี 2523 เสี่ยงกว่ากลุ่มอายุอื่น

819
views

รู้จัก ‘โรคฝีดาษลิง’ ทำไมคนเกิดหลังปี 2523 เสี่ยงกว่ากลุ่มอายุอื่น โรคนี้เคยระบาดเมื่อ 20 ปีก่อน
จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ไม่ให้เชื้อหลุดเข้าประเทศ 💉คนอาจต้องกลับมาปลูกฝีกันอีกรอบ

‘โรคฝีดาษลิง’ (Monkeypox) ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ โรคนี้เคยระบาดเมื่อ 20 ปีก่อน ขณะนี้ยังไม่พบในไทย แต่การเฝ้าระวังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง รวมทั้งการนำสัตว์ต่างถิ่นเข้าสู่ประเทศ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่าโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคน (ไข้ทรพิษ) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน และฝีดาษวัว

คนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย

แม้ว่าการแพร่เชื้อจากคนสู่คน จะมีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณ 10%

นพ.โอภาส ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม คนที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ

ด้าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ทีมวิจัยของโปรตุเกสเป็นกลุ่มแรกที้ถอดรหัสพันธุกรรมของโรคฝีดาษลิง ข้อมูลที่ได้พบว่า ไวรัสสายพันธุ์ที่ระบาด เป็นกลุ่มเดียวกับไวรัสที่ระบาดในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีความใกล้เคียงสูงมากกับไวรัสที่เคยพบระบาดในไนจีเรียแล้วหลุดไปประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ อิสราเอล และ สิงคโปร์ ในช่วงปี 2018-2019

สำหรับการป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง คือ

หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

บทความต้นฉบับ