วัดแดง ต.เขาพระบาท อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช

9494
views
วัดแดง อ.เชียรใหญ่

พ่อท่านหนูจันทร์ วัดแดง ท่านเป็นลูกศิษย์พ่อท่านชูเฒ่า วัดพัทธสีมา ท่านมีเมตตามาก สิงสาราสัตว์มาอยู่ด้วยเต็มวัด พระของท่านทุกรุ่นเป็นที่นิยมของคนในท้องถิ่นมาก

โดยเฉพาะสายคาดเอว ลุงผมเป็นหลานของท่านคาดเอวแล้วโดนโจรปล้นบ้าน โจรยิง แกปัดลูกกระสุนทิ้งเหมือนปัดลูกประทัด ไม่เข้าสักเม็ด เป็นแต่รอยแดง ๆ ไม่น่าเชื่อ สุดยอดจริง ๆ

พ่อท่านหนูจันทร์ วัดแดง

พ่อท่านมีนามเดิมว่า หนูจันทร์ จันทร์ปาน เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือนหก ปีมะเมีย ๒๔๓๖ ที่บ้านเกาะขลบ ม.๗ ต.เขาพระบาท อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช บิดาชื่อนายศักดิ์ มารดาชื่อนางจันทร์คง จันทร์ปาน

วัดแดง ต.เขาพระบาท อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช วัดแดงตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกริมภูเขาพระบาทเหตุที่มีชื่อเรียกว่าวัดแดง ผู้เฒ่าหลายคนเล่าว่าเดิมที ที่ตั้งวัดเป็นของนางแดงวันหนึ่งมีพระภิกษุธุดงค์มาปักกรดที่ดินแห่งนี้

นางแดงไปถวายภัตตาหารและมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระธุดงค์รูปนั้น จึงยกที่ดินแปลงนี้ถวายแด่ภิกษุสงฆ์รูปนั้นเพื่อสร้างวัดขึ้นมา ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าวัดป้าแดงหรือวัดยายแดง

วัดแดง ต.เขาพระบาท

ต่อมาคำว่าป้าหรือยายเพี้ยนหายไปจนเหลือเพียงคำว่าแดง และเรียกกันว่าวัดแดงสืบกันมานับจากนั้น อีกเรื่องเล่าหนึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ละแวกวัดหลายคนเล่าว่า

ในอดีตที่ผ่านมาพื้นที่บริเวณวัดแดงมีต้นยางแดงขนาดใหญ่ มากมายผู้คนในพื้นที่ต่างเรียกกันว่าวัดยางแดง และเพี้ยนไปจนเหลือเพียงวัดแดง ซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่าวัดแดง มาจากชื่อยายแดงหรือว่าเพราะมีต้นยางแดงกันแน่

วัดแดง ตั้งขึ้นมาในยุคสมัยใด ปีไหน ยังค้นคว้าและหาข้อสรุปยิติไม่ได้ พ่อท่านหนูจันทร์ เคยเล่าให้พ่อท่านเคล้า ฟังว่า ท่านเคยอ่านในเพราวัดพะโคะ พบข้อความว่าสมเด็จเจ้าพะโคะได้เดินทางผ่านวัดแดงและได้บันทึกไว้ในเพราว่า”วัดท่าลิพง วัดพัทธสีมา วัดแดง วัดพระพุทธบาท”สร้างในสมัยเดียวกัน

วัดแดง ต.เขาพระบาท

จากคำบอกเล่าของพ่อท่านหนูจันทร์ ที่ถ่ายทอดผ่านมายังพ่อท่านเคล้านั้น จึงสันนิษฐานได้ว่าวัดแดงสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นอย่างน้อย เพราวัดพะโคะบันทึกในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกาทศรถ พ่อท่านโคะ ตามที่ชาวบ้านเรียกนั้นได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระราชสามีรามคุณูปมาจารย์จากพระมหากษัตริย์พระองค์นี้

เมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะเคยเดินทางผ่านวัดแดง แสดงว่าวัดแดงมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว อาจจะสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรือยุคสุโขทัยก็สุดคาดเดา หลักฐานที่เก่าแก่และน่าสนใจที่สุดในวัดแดงคือพระพุทธรูปปูนปั้นซึ่งหักพังตั้งอยู่หลังพระประธานในอุโบสถวัดแดง

วัดแดงเป็นศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเปลี่ยนผ่านการปกครองจากพระเถราจารย์ผู้ทรงคุณมาหลายยุคหลายสมัยทำเนียบอดีตเจ้าอาวาสประกอบไปด้วย

๑.พ่อท่านทองอินทร์(เฒ่า) ๒.พ่อท่านอินทร์ ๓.พ่อท่านจันทร์ ๔.พ่อท่านหนู ๕.พ่อท่านแดง ๖.พ่อท่านม่อย พันธ์เทพ ๗.พ่อท่านผลี้ ๘.พ่อท่านสุข ๙.พระปลอด รักษ์รงค์ ๑๐.พ่อท่านคง ๑๑.พระชุ่ม จงใจ ๑๒.พระอ้วน อนุกูล ๑๓.พระอธิการเปลี่ยน ไทรแก้ว(๒๔๗๙-๒๔๘๕) ๑๔.พระอธิการกลับ จงใจ(๒๔๘๕-๒๔๙๐) ๑๕.พระอิธาการประดับ จิตญาโณ(๒๔๙๑) ๑๖.พระสมุห์นวล โชติปญฺโญ ๑๗.พระครูปัญญาธรานุวัตร(พระมหาเคล้า ปญฺญาธโร ๒๕๑๔ – )

พ่อท่านเคล้า ปญฺญาธโร

พระครูปัญญาธรานุวัตร หรือที่ศิษยานุศิษย์ตลอดถึงผู้เคารพศรัทธาเรียกกันว่า “พ่อท่านเคล้า ปญฺญาธโร”

นามเดิมเคล้า ทองใสพร เกิดวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๔๗๕ ที่บ้านเลขที่ ๑๒๒ ม.๗ ต.เขาพระบาท อ.เชียรใหญ่จ.นครศรีธรรมราช บิดาชื่อนายขุก มารดาชื่อนางหม้อ ทองใสพร ในวัยเด็กได้เรียนหนังสือที่วัดแดง จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งเป็นระดับการศึกษาที่สูงที่สุดในสมัยนั้น และเมื่อพ.ศ ๒๔๙๕ ท่านได้ทำการบรรพชาอุปสมบทที่วัดแดง โดยมีท่านพระครูนันทกรวรสาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการประดับ จิตญาโณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระนิ่ม ผลณาโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

วัดแดง ต.เขาพระบาท

หลังจากอุปสมบทเข้ามาในบวรพระพุทธศาสนาแล้วได้อยู่จำพรรษาที่วัดแดง ๑๐ พรรษา ได้หมั่นศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยอย่างมุ่งมั่นและด้วยใจที่คิดอยากจะศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ในหลักของพระพุทธศาสนาให้รู้แจ้งเห็นชัดเพื่อที่จะนำความรู้มาเผยแผ่สอนพระเณรภายในวัดแดง ท่านจึงได้เดินทางไปศึกษานักธรรมบาลีที่สำนักเรียนวัดคูหาสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดพัทลุงซึ่งเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น โดยได้ไปพักอาศัยอยู่จำพรรษาที่วัดโคกเนียน ท่านได้ทุ่มเทกับการเรียนอย่างหนักด้วยความมุ่งหวังที่จะนำความรู้กลับมาพัฒนาวัดแดงและอบรมสั่งสอนพระเณรที่วัดให้ได้รับและมีความรู้เหมือนดังสำนักเรียนต่างๆ

พ่อท่านเคล้า ปญฺญาธโร

ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนที่สำนักวัดคูหาสวรรค์ประมาณ ๑๑ พรรษา สามารถสอบได้นักธรรมตรี โท เอกและเป็นพระมหาเปรียญ ๕ ประโยค ท่านจึงเดินทางกลับวัดแดง เพื่อนำความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาเพื่อพัฒนาวัด พระเณรให้มีความรู้ อย่างที่ท่านตั้งใจ เมื่อกลับมาอยู่วัดแดงท่านได้ช่วยสนองงานของอดีตเจ้าอาวาสอย่างสุดความสามารถทั้งทางด้านพัฒนาวัด พัฒนาพระเถร มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด จวบจนกระทั่งปี พ.ศ ๒๕๑๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดแดงและพร้อมกันนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลเขาพระบาทอีกด้วย

ด้วยความรู้ความสามารถและความเป็นนักปกครอง ปี พ.ศ.๒๕๑๖ ท่านได้รับตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอเชียรใหญ่และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเชียรใหญ่ ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ตลอดชีวิตที่ผ่านมาท่านทุ่มเทกำลังกาย กำลังทรัพย์และกำลังสติปัญญาบริหารงานคณะสงฆ์ได้อย่างเรียบร้อยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเป็นพระผู้ใหญ่ที่คณะสงฆ์ในพื้นที่อำเภอเชียรใหญ่และอำเภอหัวไทรให้ความเคารพยกย่องอย่างที่สุด