ป.ป.ช. รับความผิดพลาด #พูดหยุดโกง หลังสังคมวิจารณ์หนัก รับใช้งบกว่า 7 ล้าน ถือเป็นบทเรียน

547
views

หลังจากที่เป็นประเด็นดราม่าร้อนแรง ถูกวิพากษ์วิจารณ์แบบดุเดือดในโซเชียล กรณีที่เมื่อวันที่ (19 สิงหาคม 64) ที่ผ่านมาคนบันเทิง กว่า 30 ชีวิต พร้อมใจกันโพสต์ภาพปิดปาก ติดแฮชแท็ก “#พูดหยุดโกง”
เพื่อรณรงค์ให้คนไทยไม่ทนคนโกงทุกรูปแบบ ปลุกกระแสให้คนไทยตระหนักถึงการเอารัดเอาเปรียบ เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการปลุกจิตสำนึก และ กระตุ้นให้เกิดการช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมมิชอบ สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่ จนเกิดแฮชแท็ก “#พูดหยุดโกง” ขึ้นนั่นเอง

ซึ่งหลังจากนั้นก็มีดราม่าขึ้นมาทันที เพราะมีชาวเน็ตบางส่วนเสียงแตก ไม่เห็นด้วย กับแคมเปญ “#พูดหยุดโกง” พร้อมถามกลับรัฐบาลว่า “เอางบประมาณไปซื้อวัคซีนดีกว่าไหม” ในขณะที่บางส่วนถามกลับดาราที่โพสต์ “จ่ายภาษีครบหรือยัง” นอกจากนี้ชาวเน็ตที่ไม่เห็นด้วย ก็มีการสืบที่มาที่ไปของแคมเปญนี้จึงพบว่า
เป็นโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกมาเปิดเผยถึงแคมเปญ พูดหยุดโกง หลังจากที่ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากโลกออนไลน์มากมาย โดย พล.ต.อ.วัชรพล เผยว่า แคมเปญดังกล่าวได้ใช้งบประมาณไปกว่า 7 ล้านบาท พร้อมระบุว่าที่มาที่ไปของการขอเงินกองทุน ป.ป.ช. ต้องผ่านหลายส่วน

โดยขั้นตอนการขอเงินทุนจะเริ่มจากมีผู้เสนอโครงการมาต้องมีการวิเคราะห์นำส่งสำนักนโยบายและแผน และสำนักงานประชาสัมพันธ์ การสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชน ของสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อวิเคราะห์คำขอโครงการ งบประมาณที่จะใช้ มีตัวชี้วัดต้องดำเนินการอะไรบ้างต่างๆ เมื่อผ่านทั้ง 2 สำนักแล้ว จะไปสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการ มีตัวแทนของกองทุน มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาช่วยกันวิเคราะห์ว่า ภาคเอกชนใดๆ ขอมาในโครงการนี้ มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร

จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการกองทุน มีตนเป็นประธาน และมีกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ได้รับมอบหมาย 1 รายเป็นกรรมการ นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ เพื่อวิเคราะห์และพิจารณาตามที่คณะอนุกรรมการเสนอมา ในที่สุดเรื่องนี้มีการอนุมัติไป หลังจากนั้นต้องไปติดตาม ประเมินตามตัวชี้วัดว่าเป็นไปตามตัวชี้วัดหรือไม่

นอกจากนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “วันนี้ต้องน้อมรับว่า เรื่องของข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน โซเชี่ยลมีเดียมีอิทธิพล รวดเร็วมาก สิ่งที่คอมเมนต์มา กรรมการ ป.ป.ช.แต่ละคนไม่ค่อยสบายใจ แต่น้อมรับทั้งหมด ต้องนำเรื่องนี้มาประกอบ มอบข้อมูลตรงนี้ไปให้กรรมการที่ประเมินตามตัวชี้วัด อาจมีการปรับปรุงแก้ไข ทั้งหมดถือเป็นบทเรียน”

“ความผิดพลาด ข้อแนะนำต่างๆ ป.ป.ช.น้อมรับ และเป็นกระบวนการส่งเสริมให้ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมรณรงค์ต้านโกง อาจมีอะไรผิดพลาดบ้าง ทางเราน้อมรับ ทุกอย่างตั้งใจให้คนรณรงค์มีส่วนร่วม อาจไม่ครบถ้วน ไม่รอบคอบไปบ้าง คราวหน้าจะได้ไม่เกิดข้อบกพร่อง มีประสิทธิภาพมากขึ้น” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว

บทความต้นฉบับ