นักวิทย์ฯพบ คนอายุยืนเกินร้อยปี มีแบคทีเรียชนิดพิเศษในลำไส้ ช่วยยับยั้งเชื้อก่อโรค-เชื้อดื้อยา

752
views

ญี่ปุ่น – ผลการศึกษาล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นพบว่า คนที่มีอายุยืนถึง 100 ปีขึ้นไป มักมีแบคทีเรียชนิดพิเศษที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อในลำไส้ โดยแบคทีเรียเหล่านี้จะผลิตกรดน้ำดีทุติยภูมิ (secondary bile acid) ซึ่งทำให้ลำไส้มีสุขภาพดีและอาจส่งผลต่อการมีอายุยืนยาวด้วย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เริ่มให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่อเรื่องของชีวนิเวศจุลชีพหรือไมโครไบโอม (microbiome) ซึ่งหมายถึงองค์ประกอบทางพันธุกรรมทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในร่างกายของมนุษย์ โดยองค์ประกอบและความหลากหลายของชีวนิเวศจุลชีพในแต่ละคน สามารถจะส่งผลต่อสุขภาพของคนเราในภาพรวมได้อย่างที่คาดไม่ถึง

ล่าสุดทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคโอของญี่ปุ่น ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Nature ว่าด้วยลักษณะของชีวนิเวศจุลชีพในหมู่ผู้ที่มีอายุยืนถึงหนึ่งศตวรรษขึ้นไป ซึ่งทีมวิจัยพบว่าคนชรากลุ่มนี้มีความเสี่ยงเกิดโรคเรื้อรังและโรคติดเชื้อต่ำ ในขณะที่มีปริมาณของแบคทีเรียในลำไส้ชนิดหนึ่งสูงกว่าคนในกลุ่มอายุอื่น ๆ อย่างมาก

มีการตรวจสอบองค์ประกอบของแบคทีเรียในลำไส้ จากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป จำนวน 160 คน โดยคนชราเหล่านี้มีอายุเฉลี่ยราว 107 ปี

เมื่อนำผลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับลักษณะของชีวนิเวศจุลชีพที่พบในกลุ่มตัวอย่างอายุ 85-89 ปี จำนวน 112 คน และกลุ่มตัวอย่างอายุ 21-55 ปี จำนวน 47 คน พบว่าผู้เฒ่าที่อายุยืนกว่าร้อยปีมีแบคทีเรียจำพวกที่ช่วยผลิตกรดน้ำดีทุติยภูมิ (secondary bile acid) อยู่สูงกว่ากลุ่มตัวอย่างในวัยอื่นมาก ทั้งมีปริมาณของกรดน้ำดีทุติยภูมิบางชนิดในลำไส้สูงกว่าด้วย

ตามปกติแล้วตับจะผลิตกรดน้ำดีปฐมภูมิเพื่อช่วยย่อยอาหารในลำไส้เล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทไขมัน แต่เชื้อแบคทีเรียที่ดีบางชนิดในลำไส้จะเปลี่ยนกรดน้ำดีจากตับให้เป็นกรดน้ำดีทุติยภูมิ ซึ่งมีประโยชน์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคและเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ไม่ให้เจริญเติบโตภายในลำไส้ได้

ทีมผู้วิจัยยกตัวอย่างผู้เข้ารับการตรวจสอบรายหนึ่งที่มีอายุ 110 ปี ซึ่งพวกเขาพบว่าชายชราคนนี้มีแบคทีเรียประเภท Odoribacteraceae อยู่สูงกว่ากลุ่มตัวอย่างที่อายุน้อยกว่า โดยแบคทีเรียที่ดีชนิดนี้ช่วยผลิตกรดน้ำดีทุติยภูมิที่เรียกว่า Isoallolithocholic acid (IsoalloLCA) ซึ่งสามารถยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียมบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงรุนแรงและผนังลำไส้อักเสบ รวมทั้งกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะแวนโคมัยซินได้อีกด้วย

ศาสตราจารย์ เคนยะ ฮอนดะ ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า ในอนาคตพวกเขาอาจทำการศึกษาต่อยอด เพื่อนำเชื้อแบคทีเรียดีที่พบในคนอายุยืนร้อยปีขึ้นไปมาใช้เป็นโพรไบโอติกส์ (probiotics) ซึ่งหากได้รับประทานหรือนำเข้าร่างกายแล้วจะมีผลดีต่อสุขภาพ โดยช่วยต้านทานการติดเชื้อในลำไส้ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบว่ากลุ่มคนอายุยืนกว่าร้อยปีได้รับแบคทีเรียดีดังกล่าวโดยสืบทอดทางพันธุกรรม หรือได้จากการกินอาหาร หรือจากการทำกิจกรรมประเภทใดกันแน่ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในระยะยาวกันต่อไป

“แม้ผลการศึกษาของเราจะชี้ว่า แบคทีเรียที่ช่วยผลิตกรดน้ำดีทุติยภูมิอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนมีอายุยืนยาวได้ แต่เราก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าสองสิ่งนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร และยังไม่สามารถอธิบายกลไกเบื้องหลังที่อาจทำให้แบคทีเรียส่งผลต่ออายุขัยของมนุษย์” ศ. ฮอนดะกล่าว

บทความต้นฉบับ

คนอายุยืนเกินร้อยปีมีแบคทีเรียชนิดพิเศษในลำไส้ ช่วยยับยั้งเชื้อก่อโรค-เชื้อดื้อยา

 
ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร