“ไม้พญาท้าวเอว” ไม้มงคลเทพเทวารักษา มีฤทธิ์ในตัว กันเขี้ยว กันงา และแก้ปวดเมื่อย

18529
views
ไม้พญาท้าวเอว

“ไม้พญาท้าวเอว” นับเป็นของทนสิทธิ์ชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องรางที่ธรรมชาติสร้างมา ขลังแบบไม่ต้องปลุกเสก เป็นที่นิยมของคนสมัยโบราณไว้พกติดตัว เชื่อกันว่าสามารถป้องกันภัยต่างๆได้ ไม่ว่า กันเขี้ยว กันงา สัตว์มีพิษต่างๆ รวมตลอดทั้งในอีกหลายๆอย่าง ดังรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไป

พญาท้าวเอว ชื่อวิทยาศาสตร์ Oxyceros bispinosus (Griff.) Tirveng. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Randia bispinosa (Griff.) Craib) จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)

สมุนไพรพญาท้าวเอว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขบเขี้ยว , สลักเขี้ยว (สุราษฎร์ธานี) ส่วนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้เรียก “พญาท้าวเอว” เป็นต้น

ไม้พญาท้าวเอว

ลักษณะของพญาท้าวเอว

ต้นพญาท้าวเอว จัดเป็นไม้พุ่มพาดพันไปบนต้นไม้อื่น ตามลำต้นมีหนามแหลมโค้ง พอแก่แล้วหนามจะโค้งหาลำต้นในลักษณะที่หนามไปล็อกลำต้นไว้ เป็นไม้ป่าของไทยที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ใบพญาท้าวเอว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีแกมขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ ๔-๖ เซนติเมตร และยาวประมาณ ๑๐-๑๕ เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบประมาณ ๖-๙ คู่ มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ

ดอกพญาท้าวเอว ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยหลายดอก กลีบดอกเป็นสีขาว ๕ กลีบ มีกลิ่นหอม

ผลพญาท้าวเอว ผลเป็นผลสด ออกเป็นพวง ๆ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม

ไม้พญาท้าวเอว

สรรพคุณของพญาท้าวเอว

๑. ลำต้นใช้ฝนกับเหล้าทารักษาแผลในปาก (ลำต้น)

๒. หากปวดฟันหรือเป็นรำมะนาด ให้ใช้เหล้าเป็นกระสาย นำมาฝนแล้วทาบริเวณที่ปวด อาการก็จะบรรเทาลง (ลำต้น)

๓. ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้ลำต้น นำมาฝนกับน้ำปูนใสกินเป็นยาแก้อาการท้องเดิน (ลำต้น)

๔. ใช้ลำต้นนำมาฝนกับน้ำปูนใสกินเป็นยาแก้งูสวัด ไฟลามทุ่ง (ลำต้น)

ไม้พญาท้าวเอว

๕. ลำต้นใช้ฝนทาแก้พิษสัตว์กัดต่อย ขบ โดยใช้น้ำมะนาวหรือน้ำซาวข้าวเป็นกระสาย แล้วเอาว่านนี้มาฝนเข้าด้วยกันกับน้ำกระสาย แล้วเอาไปปิดที่แผล (ลำต้น)

๖. ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ลำต้นพญาท้าวเอวผสมกับหัวยาข้าวเย็น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (ลำต้น) แต่บางข้อมูลก็ระบุว่าให้นำไม้ท้าวเอวไปแช่ในน้ำให้เปียกชุ่มก่อน จะทำให้ตัวยาของไม้ซึมออกมา จากนั้นจึงนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อยไม่นานก็จะหาย

๗. นอกจากนี้ว่านพญาท้าวเอวยังมีสรรพคุณอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาอีก (ข้อมูลไม่มีแหล่งอ้างอิง) เช่น แก้เด็กเป็นทราง ฟันเป็นแมง เจ็บคอ ตกเลือด เลือดทำพิษ แก้โรคผิวหนัง เป็นหันฝีหัวพิษ แก้เล็บขบ (ใช้ลำต้นนำมาฝนกับเหล้า) หรือถ้ากินยาเบื่อ ยาพิษ ผิดสำแดง ปวดท้อง ลงท้อง เป็นบิด ให้นำมาฝนกับน้ำซาวข้าว (ลำต้น)

ไม้พญาท้าวเอว

ประโยชน์ของพญาท้าวเอว

๑. หากนำมาปลูกเป็นไม้ประดับก็สวยและแปลกตาไปอีกแบบที่มีหนามล็อกลำต้น

๒. ในด้านของความเชื่อ พญาท้าวเอวถือเป็นไม้มงคล เป็นว่านเมตตามหานิยมทางแคล้วคลาด ทางเขี้ยวงา ฯลฯ มีไว้ใช้ป้องกันตัว เชื่อว่าป้องกันสัตว์ร้ายและอสรพิษกัด รวมถึงคนที่จะมาลอบทำร้าย (งู ตะขาบ แมงป่อง ปลาดุกยักษ์แทง )

ไม้พญาท้าวเอว เป็นไม้ที่พบแถบตะวันตก กาญจนบุรี ตาก พม่า เป็นไม้เถาเลื้อย มีลักษณะที่เห็นได้ชัดคือ ข้อเกี่ยวสำหรับไว้ยึดลำต้นของมันกับไม้ต้นอื่นๆ ข้อเกี่ยวของไม้เถาชนิดนี้เป็นที่มาของชื่อ เพราะหากเราตัดลำต้นออกมาข้อหนึ่ง ตรงขอเกี่ยวของมันจะมีลักษณะดั่งคนกำลังท้าวเอว จึงเรียกไม้ชนิดนี้ว่าไม้พญาท้าวเอว ทางภาคใต้ก็มีไม้ชนิดนี้ขึ้นเช่นกัน และเขาจะเรียกว่าไม้เขี้ยวขบ เพราะเขาอุปมาขอเกี่ยวของไม้เถาชนิดนี้ว่าคล้ายกับเขี้ยวงู

ไม้พญาท้าวเอว

มีตำนานเล่าเป็นนิทานพื้นบ้านว่า ไม้นี้มีเทวดารักษา ขึ้นอยู่ข้างๆอาศรมพระฤาษีตาไฟ วันหนึ่งพระฤาษีท่านจะลองฤทธิ์ของตนด้วยการลืมตาที่สาม พระฤาษีประกาศไว้ทั่วป่าอาณาเขตว่าอย่าเข้ามาขวางข้างหน้าเวลาที่ท่านลืมตาที่สามเพราะจะมีไฟบรรลัยกัลป์พุ่งออกมา ใครอยู่ขวางหน้าจะกลายเป็นจุลมหาจุล พอเวลาที่พระฤาษีตาไฟลืมตาขึ้น เทพยดาที่รักษาไม้พญาเท้าเอวก็เข้ามาขวางหน้าดู เรียกว่าลองฤทธิ์กับองค์ฤาษี และสามารถทนทานอยู่ได้ ไม่เป็นอันตราย พระฤาษีชมว่าเก่งและพอใจเป็นอันมากจึงตั้งใจสอนวิชาให้ เป็นอันว่าไม้พญาเท้าเอวมีฤทธิ์มาก

คนโบราณกล่าวถึงสรรพคุณสำคัญไว้ว่าดีทางกันเขี้ยวงาอสรพิษ และใช้คาดเอวไม่ให้ปวดเมื่อย แต่การใช้นั้นต้องรู้วิธีครับ ต้องนำไม้เท้าเอวไปแช่ในน้ำให้เปียกชุ่มก่อน เพราะยางภายในหรือตัวยาของไม้จะได้ซึมออกมา จากนั้นจึงประคบเข้าที่บริเวณปวดเมื่อยไม่นานก็หายได้

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของบทความ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

https://medthai.com/ , http://www1.g-pra.com/