คืนนี้ ชวนดูปรากฏการณ์ “จันทรุปราคา” คืนวันวิสาขบูชา 26 พ.ค.นี้

1401
views

เวลาหัวค่ำของวันพุธที่ 26 พฤษภาคม 2564 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา จะเกิดจันทรุปราคาซึ่งเป็นผลจากดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเข้าไปในเงาโลก ประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นได้ทั่วทุกภาค โดยจันทรุปราคากำลังดำเนินอยู่ขณะดวงจันทร์ขึ้นเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก และส่วนใหญ่ของประเทศเห็นได้ในช่วงที่เป็นจันทรุปราคาบางส่วนเท่านั้น ไม่เห็นในช่วงที่เป็นจันทรุปราคาเต็มดวง เนื่องจากจันทรุปราคาเต็มดวงสิ้นสุดลงก่อนดวงจันทร์ขึ้น

ทั้งนี้ ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 15.47 น. จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 16.44 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 18.11-18.25 น. แต่ในวันดังกล่าวในประเทศไทยดวงจันทร์จะโผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.38 น. ทำให้ผู้สังเกตในไทยมีโอกาสมองเห็นเป็นเพียง “จันทรุปราคาบางส่วน” เท่านั้น

สำหรับผู้สนใจสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าในทุกภูมิภาคของประเทศ บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 18.38 น. เป็นต้นไป จะมองเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อยๆ ออกจากเงามืดของโลก จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวงในเวลา 19.52 น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20.49 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ และเป็นจังหวะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลก ทำให้ผู้สังเกตบนโลกฝั่งกลางคืน ในพื้นที่กว่าครึ่งโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งหายไปในเงามืดแล้วโผล่กลับออกมาอีกครั้ง โดยจะเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือคืนวันดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง บางปีอาจมีได้มากถึง 5 ครั้ง.
ดวงจันทร์เต็มดวงขณะใกล้โลกที่สุด

จันทรุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุด หรือที่บางคนเรียกว่าซูเปอร์มูน (supermoon) โดยขนาดของดวงจันทร์จะใหญ่กว่าค่าเฉลี่ยราว 7-8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้แตกต่างมากจนสังเกตได้ชัดด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ตาม ทุกคนจะรู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ผิดสังเกตเสมอเมื่อเห็นดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้า โดยไม่จำเป็นต้องเกิดซูเปอร์มูน อันเกิดจากการที่มีฉากหน้า เช่น สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ภูเขา มาอยู่ใกล้ดวงจันทร์ให้เกิดการเปรียบเทียบ หากคำนวณแล้ว ในคืนนั้น ดวงจันทร์เมื่ออยู่สูงสุดบนท้องฟ้าราวเที่ยงคืน มีระยะทางที่ใกล้กับผู้สังเกตซึ่งอยู่บนผิวโลกมากกว่าเวลาที่ดวงจันทร์เพิ่งจะขึ้นเหนือขอบฟ้าหรือใกล้จะตกลับขอบฟ้าเสียอีก

ปีนี้จะมีจันทรุปราคาเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งตรงกับเทศกาลลอยกระทง เป็นจันทรุปราคาบางส่วนที่เห็นได้ในบางพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะซีกด้านตะวันออกของประเทศ