“การดับแห่งทุกข์” ใบไม้กำมือเดียว

2306
views
ใบไม้กำมือเดียว

สิ่งใด “อยากรู้” แล้วก่อทุกข์ “พึงละ” สิ่งใด “อยากรู้” แล้วนำไปสู่ทางพ้นทุกข์ “พึงทำให้มาก”

รู้ในอริยสัจ ๔ ประการ คือ รู้จัก “ทุกข์” รู้จัก “เหตุแห่งทุกข์” รู้จัก “การดับไปแห่งทุกข์” รู้จัก “หนทางแห่งการดับทุกข์” สิ่งใดอยากรู้แล้วจึงพึงพิจารณาลงในกาย ในใจ หากเป็นเหตุก่อ “ทุกข์” พึงละ หากเป็นหนทนทาง “ดับทุกข์” พึงทำให้มาก สิ่งเหล่าใดไม่นำไปสู่ “การดับแห่งทุกข์”

สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้มีมากมายเปรียบใบไม้ทั้งป่า แต่ที่ทรงนำมาสอนเปรียบเพียงแค่ “ใบไม้กำมือเดียว”

การดับแห่งทุกข์

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหยิบใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบขึ้นมา แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า…

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่เราหยิบขึ้นมากับใบที่อยู่บนต้น อย่างไหนจะมากกว่ากัน”

ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ใบที่อยู่บนต้นไม้นั้นแลมากกว่า ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบ ที่พระองค์ทรงหยิบขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย พระพุทธเจ้าข้า”

การดับแห่งทุกข์

“ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วแต่ไม่ได้บอกเธอทั้งหลายก็มีมากเหมือนกัน

เพราะเหตุไร เราจึงมิได้บอก

เพราะสิ่งนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ(ทุกข์) ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้นเราจึงมิได้บอก

อริยสัจ ๔

สิ่งอะไรเล่าที่เราบอกแล้ว
คือ เราได้บอกว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

เพราะเหตุไรเราจึงบอก เพราะสิ่งนี้มีประโยชน์ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้นเราจึงบอก

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นเธอทั้งหลายพึงทำความเพียร เมื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงฯ”

อริยสัจ ๔

พระไตรปิฎกภาษาไทย
สีสปาวนสูตร
สงฺ.ม. ๑๙/๑๑๐๑/๖๓๑