เผยสูตรนรก “ยาเคนมผง” ผสมเฮโรอีน ไอซ์ ยานอนหลับ เสพครั้งเดียวก็ตายได้

929
views

ผบช.ปส. ระบุ กรณีวัยรุ่นเสพยาเสพติดแล้วเสียชีวิตและบาดเจ็บ พบยาที่เสพคือ ยาเคนมผง มีส่วนผสมทั้งเฮโรอีน ไอซ์ ใช้ยานอนหลับเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ฤทธิ์แรง เตือนเสพครั้งเดียว สามารถน็อกยาถึงตายได้

ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เวลา 10.00 น. วันที่ 11 ม.ค. พล.ต.ท.มนตรี ยิ้มแย้ม ผบช.ปส. เปิดเผยกรณีมีผู้เสพยาเสพติดเสียชีวิตหลายราย และมีผู้ได้รับอันตรายจนอาการสาหัสจากการเสพ “ยาเคนมผง” ในช่วง 1-2 วัน ที่ผ่านมาว่า เคนมผงตัวดังกล่าวเป็นยาที่ผสมขึ้นเองในหมู่ของผู้เสพเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ยามีฤทธิ์แรงขึ้น สนุกมากขึ้น และเพิ่มมูลค่าของตัวยาให้มีราคาสูงมากขึ้น

ทั้งนี้ พบว่ายาตัวดังกล่าว น่าจะมีที่มาจากแหล่งในจังหวัดปทุมธานีเนื่องจากจุดดังกล่าวเป็นแหล่งพักยา และสามารถหาส่วนผสมทั้งหมดได้ง่าย

สำหรับส่วนผสมของยามี 4 ตัว คือเฮโรอีน เคตามีน ไอซ์ และยานอนหลับ ชื่อโรเซ่ ชื่อเต็ม โคลนาซีแพม ยานอนหลับชนิดนี้ เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประเภท 4 ลำดับที่ 11 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ร้านขายยา ขายเม็ดละ 3-5 บาท

จากการวิเคราะห์ในเบื้องต้น พบว่าตัวยาที่อันตรายที่สุดคือเฮโรอีน เนื่องจากยาเสพติดชนิดนี้ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการโอเวอร์โดส จนถึงขั้นเสียชีวิตได้มากที่สุด โดยมียานอนหลับเป็นตัวประสานตัวยา และตัวเร่งฤทธิ์ของยาทั้งหมด

“ผู้เสพจะมีอาการมึนเมาเหมือนคนเมาเหล้า แต่จะไม่มีกลิ่นสุรา และจะมีอาการสะลึมสะลือ โดยอาการที่อันตรายที่สุด คืออาการปากเขียวคล้ำ และมีเลือดออกทางจมูก ซึ่งอาการดังกล่าวแปลว่า ผู้เสพมีอาการเสพยาเกินขนาด จนร่างกายไม่สามารถรับได้ หรือน็อกยา หากพบอาการแบบนี้ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ยาเสพติดประเภทดังกล่าว แม้เสพเพียงครั้งเดียว ก็อาจถึงแก่ชีวิตได้เพราะเป็นยาที่มีขนาดค่อนข้างรุนแรง”

ส่วนสาเหตุที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในพื้นที่ สน.วัดพระยาไกร จากการวิเคราะห์ของชุดสืบสวน เชื่อว่า ในจุดดังกล่าวเป็นจุดที่มีอพาร์ตเมนต์แหล่งท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงเป็นจุดที่ผู้ใช้ยาแต่ละคนนำยากลับมาเสพในที่พักของตนเอง คาดว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดน่าจะมีความเชื่อมโยงกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อมจึงสามารถนำยาชนิดดังกล่าวมาเสพในกลุ่ม และกระจายกลับไปในพื้นที่ของตนเอง

เบื้องต้น ตำรวจปราบปรามยาเสพติดได้ขอตัวอย่างยาที่พบในที่เกิดเหตุ ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำไปตรวจสอบแยกสารประกอบ และตรวจสอบองค์ประกอบว่า มีตัวยาส่วนผสมชนิดใดมากที่สุด และยาเสพติดตัวใดที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต

เครดิตแหล่งข้อมูล : ไทยรัฐออนไลน์