เริ่มแล้ว”บัตรทอง”ย้ายหน่วยบริการเกิดสิทธิทันที จำกัดไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี

1270
views

สปสช.พร้อมเดินหน้านโยบาย “ย้ายหน่วยบริการเกิดสิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน” เป็นของขวัญปีใหม่ผู้ป่วยบัตรทอง เริ่มแล้วตั้งแต่ 1 ม.ค.64 พร้อมกันทั่วประเทศ พัฒนาระบบควบคุมกำกับ เฝ้าระวังการย้ายสิทธิผิดปกติ-เสี่ยงพลการ จำกัดไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี-ใช้หลักฐานพักอาศัยจริง

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินงานตามนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการ “ย้ายหน่วยบริการ เกิดสิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน” ได้เริ่มพร้อมกันทั่วประเทศแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 โดยเป็น 1 ใน 4 ของการพัฒนาระบบบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่จะช่วยลดขั้นตอน และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับบริการให้กับประชาชน “โดยปกติแล้วระบบการลงทะเบียนบัตรทอง จะเกิดสิทธิทุกวันที่ 15 และ 28 ของเดือน ซึ่งจากข้อมูลการลงทะเบียนและเปลี่ยนหน่วยบริการ (สถานพยาบาล) ของประชาชนในปีงบประมาณ 2562 และ 2563 ที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 3.96 ล้านครั้ง และ 3.62 ล้านครั้ง ตามลำดับ อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ประชาชนจะสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการใหม่ได้ทันที หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการ หรือขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ แล้วเกิดสิทธิทันทีได้ทุกช่องทาง ทั้งการลงทะเบียนผ่านหน่วยบริการ ช่องทาง สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร รวมถึงกรณีที่ประชาชนเปลี่ยนหน่วยบริการเองผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. ซึ่งใน 1 วันประชาชนสามารถเปลี่ยนหน่วยบริการได้มากกว่า 1 ครั้ง แต่จะไม่เกิน 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ ตามข้อบังคับฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลงทะเบียน พ.ศ.2562 นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามแม้ประชาชนจะสามารถเปลี่ยนหน่วยบริการได้เอง แต่จะยังคงใช้ข้อบังคับฯ การลงทะเบียน พ.ศ.2562 ที่ยังต้องมีหลักฐานการพักอาศัยจริง เพื่อป้องกันการย้ายหน่วยบริการโดยไม่มีความจำเป็น และอาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับบริการตามหลักการใกล้บ้านใกล้ใจ ขณะเดียวกัน สปสช. ยังได้มีการปรับปรุงระบบการลงทะเบียน (ERM) ให้ลงทะเบียนผ่านสมาร์ทการ์ดได้ เพื่อป้องกันการลงทะเบียนโดยพลการ

“สปสช.ได้พัฒนาระบบควบคุมกำกับ และจัดทำรายงานข้อมูลลงทะเบียนที่มีความผิดปกติและเสี่ยงพลการ ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนที่มีทะเบียนบ้านเลขที่เดียวกันเกิน 15 คน การลงทะเบียนรายหน่วยบริการประจำที่มียอดผิดปกติ ข้อมูลการลงทะเบียนเคลื่อนไหวระหว่างหน่วยบริการ หรือข้อมูลการลงทะเบียน กรณีมอบอำนาจให้ลงทะเบียนแทนเกิน 10 คน ซึ่งเป็นความพร้อมให้นโยบายนี้เดินไปได้อย่างรัดกุม” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

เครดิตแหล่งข้อมูล : thansettakij.com