กาฬสินธุ์ พบซากดึกดำบรรพ์ ‘ปลาปอด’ ชนิดใหม่ของโลก อายุ 150 ล้านปี

1083
views
ปลาปอด

กรมทรัพยากรธรณี แถลงค้นพบซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก #ปลาปอด #เฟอร์กาโนเซอราโตดัสแอนเคมเป ที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดเป็นปลาโบราณที่พบมาตั้งแต่ 417 ล้านปี มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถหายใจด้วยปอดร่วมกับการหายใจด้วยเหงือก

ซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก

จากการสำรวจขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ ณ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ โดยทีมนักวิจัยจาก พิพิธภัณฑ์สิรินธร สำนักงานทรัพยากรเขต 2 กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำให้ค้นพบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ปลาปอด ที่ประกอบด้วย ชิ้นส่วนของกะโหลก และแผ่นฟัน ซึ่งคาดว่าเป็นชิ้นส่วนจากปลาตัวเดียวกัน

ปลาปอด

จึงได้ตั้งชื่อปลาปอดที่พบที่ภูน้อย เป็นปลาปอดชนิดใหม่ของโลก ชื่อ เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป (Ferganoceratodus annekempae) ซึ่งชื่อชนิดตั้งเป็นเกียรติให้กับ ดร.แอน เคมป์) ผู้เชี่ยวชาญปลาปอดของโลก

ปลาปอดจัดเป็นปลาโบราณ ลักษณะของปลาปอดคือ สามารถหายใจด้วยปอดร่วมกับการหายใจด้วยเหงือก ครีบอกและครีบท้องมีลักษณะเป็นเนื้อหุ้ม ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดแบบคอสมอยด์ ฟันมีลักษณะเป็นแผ่นฟัน ซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดสกุล เฟอร์กาโนเซอราโตดัส ถือว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่หายากโดยเฉพาะส่วนกะโหลก โดยสกุลนี้มีการพบในประเทศจีน ประเทศรัสเซีย และประเทศไทยเท่านั้น

ดังนั้นการค้นพบปลาปอด เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป ณ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ ภูน้อย อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ จึงมีความสำคัญในการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลก

ซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก

สำหรับแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อยู่ในพื้นที่ ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ในหมวดหินภูกระดึง กลุ่มหินโคราช ยุคจูแรสซิกตอนปลาย มีอายุประมาณ 150 ล้านปี เป็นแหล่งที่มีการสำรวจขุดค้นมามากกว่า 10 ปี

มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่หลากหลาย เช่น ฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เทอโรซอร์ และไดโนเสาร์ ถือว่าเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และจัดว่าเป็นแหล่งที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังมากที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้

ปลาปอด

#ปลาปอด

@DnpReport