“ตะกรุด” เป็นหนึ่งในเครื่องรางของขลัง ที่ผูกพันกับคติความเชื่อของคนไทย

2925
views
ตะกรุด

ตะกรุด เป็นหนึ่งในเครื่องรางของขลังที่ผูกพันกับคติความเชื่อในสังคมไทยมาช้านาน เพื่อความเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ดีในทางแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ป้องกันภยันตราย ภัยพิบัติทั้งปวง รวมทั้งด้านเมตตามหานิยม ค้าขาย โชคลาภ กลับดวง พลิกชะตา เลื่อนยศ ร้ายกลายเป็นดี ฯลฯ ตะกรุดได้ถูกสร้างโดยอ้างถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เพราะหากทำวัตถุบูชาเป็นรูปพระพุทธเจ้าแล้ว เมื่อนำไปในสถานที่ต่าง ๆ เช่น สนามรบอาจจะไม่บังควร

ตะกรุด

ตะกรุดทำมาจากวัสดุต่าง ๆ ตามตำราของครูบาอาจารย์แต่ละท่าน แต่ที่พบโดยทั่วไปจะเป็นการนำโลหะแผ่นบางๆ อาจจะเป็น ทองคำ เงิน นาก ตะกั่ว หรือโลหะผสมอื่น ๆ มาลงอักขระเลขยันต์ด้วยเหล็กจารแสดงความหมายที่แตกต่างกันออกไป แล้วม้วนให้เป็นท่อกลมโดยมีช่องว่างตรงแกนกลางสำหรับร้อยเชือกติดตัว อาจนำมาหลอมรวมกันแล้วทำเป็นตะกรุดหล่อโบราณ ทำจากรางน้ำฝน ทำจากกาน้ำ ทำจากใบลาน ตัดเป็นแผ่นก่อนแช่น้ำแล้วนำมาม้วนเป็นท่อกลม

ตะกรุด

ทำจากหนังสัตว์ เช่น หนังเสือ หนังหน้าผากเสือ หนังงู หนังเสือดาว หนังลูกวัวอ่อนตายในท้องแม่ หรือจากกระดูกสัตว์ ตะกรุดกระดูกช้าง ตะกรุดจากเขาวัวเผือก หรือจากไม้มงคลต่างๆ เช่น ไม้ไผ่ ซึ่งมีทั้งไผ่ตันและไผ่รวก ไม้คูน ไม้ขนุน ตะกรุดส่วนใหญ่ที่เป็นโลหะ จะมีความเชื่อที่แตกแขนงออกไปอีก เช่น ถ้าเป็นตะกรุดที่ต้องการให้เกิดผลทางด้านเมตตา มักจะทำโดยใช้แผ่นทองหรือแผ่นเงิน ตะกรุดที่ต้องการให้เกิดผลทางคงกระพัน จะใช้แผ่นทองแดง ตะกรุดที่ต้องการให้เกิดผลทางด้านแคล้วคลาด มักจะใช้แผ่นตะกั่ว เป็นต้น

ตะกรุด

รูปแบบของตะกรุดก็มีพัฒนาการเรื่อยมาจากดอกใหญ่หนาสำหรับการออกศึกสงคราม ก็ค่อย ๆ ลดขนาดลง บางทีก็จัดทำเป็นดอกเล็ก ๆ ในลักษณะเครื่องรางติดตัวหรือสามารถตอกฝังเข้าไปในร่างกายได้ ปัจจุบันก็มีรูปแบบใหม่ขึ้นมาโดยทำมาจากปลอกลูกปืน อาศัยนัยว่า แม่ไม่ฆ่าลูก แล้วอาจจะถักด้วยเชือก ด้ายมงคล พอกด้วยผงยาจินดามณี แล้วนำไปจุ่มหรือชุบรักปิดทองตามตำรา ตะกรุดใช้บูชาอยู่ ๒ แบบ คือใช้คล้องคอ หรือใช้คาดเอว โดยดอกตะกรุดจะขนานกันไปในแนวนอน

 ๑๖ ดอก

ตะกรุดหากเป็นดอกเดียว เรียกว่า ตะกรุดโทน หากเป็นสองดอกจะเป็น ตะกรุดแฝด หรือเป็นโลหะสามชนิดเรียกว่า ตะกรุดสามกษัตริย์ หาก ๑๖ ดอกเรียกว่า ตะกรุดโสฬส ดังจะเห็นได้จากพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก คล้องไว้ด้วยตะกรุดดอกใหญ่ เรียงเป็นแนวยาวพาดพระอังสะ ในลักษณะการเฉียงลงถึงบั้นพระองค์ มีสายตะกรุด ๑๖ ดอก คล้องเป็นแนวยาวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งพระองค์ท่านสะพาย ๒ เส้น

ข้อมูลโดย – th.wikipedia.org