กราบสาธุ!! บารมีหลวงพ่อแช่ม​ วัดฉลอง เสกผ้าประเจียดโพกหัว ช่วยชาวบ้านปราบอั้งยี่

3469
views
หลวงพ่อแช่ม​ วัดฉลอง

พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี (แช่ม) หรือ หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง (วัดไชยธาราราม) เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๐ ที่เมืองพังงา ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ต่อมาครอบครัวได้อพยพย้ายมาอาศัยอยู่ที่บ้านฉลอง เมืองภูเก็ต (ขณะเป็นเมืองขึ้นของเมืองถลาง) ท่านสมัครเป็นลูกศิษย์วัดฉลอง เมื่อโตขึ้นจึงบรรพชาอุปสมบทที่วัดนั้น ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย จนได้รับตำแหน่งสมภารเจ้าอาวาส และเชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐาน วิชาคาถาอาคม ตลอดจนวิชาแพทย์สมุนไพร

 วิหารหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง จ.ภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒


วิหารหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง จ.ภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒

เหตุการณ์ที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงและเป็นที่นับถือของชาวภูเก็ต คือ การนำชาวบ้านต่อสู้พวกอั้งยี่เหมืองแร่ที่ก่อการจลาจลเป็นกบฎ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ ดังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระนิพนธ์ในหนังสือเรื่อง “นิทานโบราณคดี” ความว่า

“เมื่อได้ข่าวไปถึงบ้านฉลองว่า มีจีนจะออกไปปล้น พวกชาวบ้านกลัวพากันอพยพหนีไปซ่อนตัวอยู่ตามบนภูเขาโดยมาก เวลานั้น มีชายชาวบ้านที่เคยเป็นลูกศิษย์ของท่านสักสองสามคนไปชวนให้ท่านหนีไปด้วย แต่ท่านตอบว่า

หลวงพ่อแช่ม​ วัดฉลอง

“ข้าอยู่ในวัดนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนอายุถึงปานนี้แล้ว ทั้งเป็นสมภารเจ้าวัดอยู่ด้วย จะทิ้งวัดไปเสียอย่างไรได้ พวกสูจะหนีก็หนีเถิด แต่ข้าไม่ไปละ จะต้องตายก็จะตายอยู่ในวัด อย่าเป็นห่วงข้าเลย”

พวกลูกศิษย์อ้อนวอนเท่าใดท่านก็ยืนคำอยู่อย่างนั้น เมื่อคนเหล่านั้นเห็นว่า ท่านไม่ยอมทิ้งวัดไป ก็พูดกันว่า

“เมื่อขรัวพ่อไม่ยอมไป จะทิ้งให้ท่านตายเสียอย่างไร” จึงเข้าไปพูดท่านว่า “ถ้าขรัวพ่อไม่ไป พวกผมก็จะอยู่เป็นเพื่อน แต่ขออะไรพอคุ้มตัวสักอย่างหนึ่ง”

ท่านจึงเอาผ้าขาวมาลงยันต์เป็นผ้าประเจียดแจกให้คนละผืน พวกนั้นไปเที่ยวเรียกหาเพื่อนได้เพิ่มเติมมารวมกันสักสิบคน เชิญตัวท่านให้ลงไปอยู่ที่ในโบสถ์ พวกเขาไปเที่ยวหาเครื่องศัสตราวุธสำหรับตัวแล้วพากันมาอยู่วัดฉลอง พออีกสองวัน จีนพวกหนึ่งก็ออกไปปล้น แต่พวกจีนรู้ว่า ชาวบ้านหนีไปเสียโดยมาก แล้วเดินไปโดยประมาทไม่ระวังตัว พวกไทยแอบเอากำแพงแก้วรอบโบสถ์บังตัว พอพวกจีนไปถึงก็ยิงเอาแตกหนีไปได้โดยง่าย พอมีข่าวว่า พวกลูกศิษย์ท่านวัดฉลองรบชนะจีน ชาวบ้านฉลองที่หนีไปซุกซ่อนอยู่ตามภูเขาก็พากันกลับเข้าบ้านเรือน ที่เป็นผู้ชายก็ไปหาท่านวัดฉลองขอรับอาสาว่า ถ้าพวกจีนยกไปอีกจะช่วยรบ แต่ท่านตอบว่า

“ข้าเป็นพระเป็นสงฆ์ จะรบฆ่าฟันใครไม่ได้ สูจะรบพุ่งอย่างไรก็ไปคิดอ่านกันเองเถิด ข้าจะให้แต่เครื่องคุณพระสำหรับป้องกันตัว”

หลวงพ่อแช่ม​ วัดฉลอง

คนเหล่านั้นไปเที่ยวชักชวนกันรวมคนได้กว่าร้อยคน ท่านวัดฉลองก็ลงผ้าประเจียดแจกให้ทุกคน พวกนั้นนัดกันเอาผ้าประเจียดโพกหัวเป็นเครื่องหมายทำนองอย่างเครื่องแบบทหาร พวกจีนเลยเรียกว่า “อ้ายพวกหัวขาว” จัดกันเป็นหมวดหมู่ มีตัวนายควบคุม แล้วเลือกที่มั่นตั้งกองรายกัน เอาวัดฉลองเป็นที่บัญชาการคอยต่อสู้พวกจีน ในไม่ช้าพวกจีนก็ยกไปอีก คราวนี้ยกกันไปเป็นขบวนรบมีทั้งธงนำและกลองสัญญาณ จำนวนคนที่ยกไปก็มากกว่าครั้งก่อน พวกจีนยกไปถึงบ้านฉลองในตอนเช้า พวกไทยเป็นแต่คอยต่อสู้อยู่ในที่มั่นเอาปืนยิงกราดไว้ พวกจีนเข้าไปในหมู่บ้านฉลองไม่ได้ก็หยุดยั้งอยู่ภายนอก ต่างยิงโต้ตอบกันทั้งสองฝ่ายจนเวลาตะวันเที่ยง พวกจีนหยุดรบไปกินข้าวต้ม พวกไทยได้ทีก็เข้ารุมล้อมไล่ยิงพวกจีนในเวลากำลังสาละวนกินอาหาร ประเดี๋ยวเดียวพวกจีนก็ล้มตายแตกหนีกระจัดกระจายไปหมด ตามคำท่านพระครูว่า

“จีนรบสู้ไทยไม่ได้ด้วยมันต้องกินข้าวต้ม พวกไทยไม่ต้องกินข้าวต้ม จึงเอาชนะได้ง่ายๆ”

แต่นั้น พวกจีนก็ไม่กล้าไปปล้นบ้านฉลองอีก เป็นแต่พวกหัวหน้าประกาศตีราคาศีรษะท่านวัดฉลองว่า ถ้าใครตัดเอาไปให้ได้ จะให้เงินสินบนหนึ่งพันเหรียญ ชื่อท่านวัดฉลองก็ยิ่งโด่งดังหนักขึ้น”

หลังจากรัฐบาลปราบปรามพวกอั้งยี่จนสงบเรียบร้อยแล้ว ได้ยกความดีความชอบเจ้าอธิการแช่ม วัดฉลอง ว่าเป็นหัวหน้าต่อต้านการกบฎครั้งนั้น ประจวบกับตำแหน่งสังฆปาโมกข์ (เจ้าคณะใหญ่) เมืองภูเก็ต ว่างอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี ทั้งยังพระราชทานนามใหม่แก่วัดฉลองว่า “วัดไชยธาราราม”

หลวงพ่อแช่ม​ วัดฉลอง

พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี (แช่ม) มรณภาพด้วยโรคอุจาระธาตุพิการ เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) สิริรวมอายุ ๘๑ ปี พรรษา ๖๑

หลวงพ่อแช่ม​ วัดฉลอง

ภาพ : พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี (แช่ม) เจ้าอาวาสวัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) เจ้าคณะใหญ่เมืองภูเก็ต ห่มจีวรลาย ถือพัดยศพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะเมืองชั้นโท (พัดแฉกรูปเปลวเพลิง พื้นสักหลาดแดงล้วน ปักดิ้นทอง ด้ามงาต่อ ส้นเป็นเม็ดทรงมัณฑ์ ยอดเป็นบัวซ้อน ๓ ชั้น)

ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร