นั่งข้างๆ ก็ติดกันได้ ทำความรู้จักและป้องกัน ‘วัณโรคปอด’ หลังคร่าชีวิต “โรเบิร์ต สายควัน”

2846
views
วัณโรคปอด

จากกรณีที่ โรเบิร์ต สายควัน เสียชีวิตด้วยวัณโรคปอด หลายคนคงอยากรู้จัก “วัณโรคปอด” ลักษณะอาการเป็นอย่างไร ดังนั้นมาทำความรู้จัก วัณโรคปอด วิธีการรักษาและป้องกัน ต้องทำอย่างไรบ้าง

วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย “ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส” ซึ่งสามารถติดต่อกันผ่านทางอากาศได้ด้วยการหายใจ การจาม การไอ หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งวัณโรคสามารถเกิดได้ในอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่ 80% พบที่ปอด

เนื่องจากเชื้อติดต่อผ่านทางลมหายใจจึงทำให้เชื้อเข้าไปฝังตัวที่ปอดเป็นอวัยวะแรกของร่างกาย และเชื้อนี้ยังสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง จึงเป็นเหตุทำให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งเด็กและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคได้ง่าย

วัณโรคปอด

ระยะแฝง (Latent TB) เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อจะแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ภายใน 2 – 8 สัปดาห์ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะทำหน้าที่ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อโรค จึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง คือมีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ไม่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ90%ที่เชื้อโรคอาจจะอยู่ในระยะนี้เป็นเวลาหลายสิบปี หรือตลอดทั้งชีวิตเลย โดยไม่แสดงอาการใดๆ

แต่จะมี 10%ของวัณโรคระยะแฝงที่รอจังหวะเมื่อร่างกายเราอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดหรือควบคุมเชื้อได้ เชื้อวัณโรคจะแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงก็จะกลายเป็นผู้ป่วยวัณโรค แต่หากผู้ป่วยมีการตรวจพบเจอเชื้อในช่วงระยะแฝง แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ

ระยะแสดงอาการ (Active TB) เป็นระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนเกิดอาการต่าง ๆ ซึ่งมีเพียง 10%ของผู้ที่ได้รับเชื้อเท่านั้น โดย 5% จะป่วยเป็นวัณโรคภายใน 2 ปี ส่วนอีก 5% จะป่วยเป็นวัณโรคหลังจาก 2 ปีไปแล้ว ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการรักษาก็จะหายขาดจากโรคได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยร้อยละ 50-65 จะเสียชีวิตภายใน 5 ปี

วัณโรคปอด

อาการที่ปรากฎให้เห็นได้ชัดเจน ได้แก่

1. ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ อาจเป็นได้ทั้งแบบไอแห้งๆ ไอมีเสมหะ หรือไอมีเสมหะปนเลือด

2. มีไข้ต่ำๆ ช่วงบ่ายหรือค่ำ

3. เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงผิดปกติ

4. เหงื่อออกมากผิดปกติช่วงกลางคืน

ไอ

ทำได้ด้วยการรับประทานยาต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอควบคู่กับการดูแลสุขภาพ ระยะเวลารักษา 6-8 เดือน ยาฟรีตามสิทธิ์การรักษา เป็นแล้วก็เป็นอีกได้ ควรกินยาให้ครบตามกำหนด ถ้ากินยาไม่ครบมีโอกาสดื้อยา หากมีอาการดื้อยาระยะการรักษาจะนานขึ้นและต้องเสียค่ายาที่แพง รู้เร็ว รักษาหาย ก็ไม่เกิดการแพร่กระจาย

ทำอย่างไรให้ห่างไกล “วัณโรค”

1. เตรียมร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อสร้างภูมิต้านทานในการกำจัดเชื้อ โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2. ตรวจสุขภาพประจำปี

3. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค

สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีผู้คนแออัด หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก เพราะสถิติระบุว่าผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในระยะลุกลามและแพร่เชื้อ 1 คน ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ถึงปีละ 10-15 คน ค่ะ

ต้นฉบับ