เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ผู้นิยมดื่ม ‘น้ำผลไม้’ ส่วนใหญ่ ไม่ได้มีโอกาสที่จะรับรู้ ข้อมูลเหล่านี้

1128
views

แพทย์-นักวิจัย แนะดื่ม ‘น้ำผลไม้’ อย่างไรให้ได้ประโยชน์ ลดเผชิญโรค “อ้วน-ป่วย” “เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ผู้นิยมดื่มน้ำผลไม้ส่วนใหญ่ ไม่ได้มีโอกาสที่จะรับรู้ ข้อมูลเหล่านี้”

เป็นที่รับรู้มาตลอดว่าผลไม้กินสดๆ นั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่เพื่อให้รับประทานง่ายขึ้น จึงมีการแปรรูปทำเป็นน้ำผลไม้ต่างๆ ซึ่งผ่านกระบวนการต่างๆ ใส่สี แต่งกลิ่น และใส่เนื้อ ซึ่งมีผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ และส่งผลต่อสุขภาพผู้ดื่ม

จึงจำเป็นต้องรู้วิธีดื่มน้ำผลไม้ให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันดื่มแล้วจะไม่เสี่ยงโรคอ้วนและการป่วยที่ตามมา

น้ำผลไม้

นายแพทย์ฆนัท ครุธกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ และโภชนวิทยาคลินิก ศูนย์หัวใจหลอดเลือด และเมแทบอลิซึม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า ความเข้าใจแรกที่ว่า ดื่มน้ำผลไม้แล้ว ผิวพรรณจะสวย เรื่องนี้ก็ยังไม่มีงานวิจัย ทางการแพทย์ออกมายอมรับ ส่วนความเข้าใจที่ว่า ดื่มน้ำผลไม้แล้วร่างกายจะได้ประโยชน์ งานวิจัย ทางการแพทย์ก็ยืนยันว่า ในภาวะของคนที่มีร่างกายปกติ เน้นคำว่า ปกติ ไม่มีข้อมูลยืนยันว่า การดื่มน้ำผลไม้แล้วจะส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่งานวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่า น้ำผลไม้จะส่งผลดี เฉพาะคนป่วยที่ขาดวิตามินเท่านั้น เช่น คนป่วยเป็นโรคลักปิด ลักเปิด เป็นต้น

หมอฆนัท บอกว่า นอกจากน้ำผลไม้จะให้ประโยชน์กับคนป่วยที่เป็นโรคขาดวิตามินแล้ว คนสูงอายุ ที่ไม่มีฟันที่จะเคี้ยวอาหาร ก็มีความจำเป็นที่จะต้องดื่มน้ำผลไม้สด แต่หมอขอแนะ ให้เป็นผลไม้สดปั่นจนเป็นน้ำจะดีกว่า เพราะร่างกายจะได้กากใยอาหารด้วย ประการสำคัญ ต้องให้ผู้สูงอายุทานในระดับที่พอดี

ส่วนความเชื่อที่ว่า น้ำผลไม้ ยิ่งดื่มมากยิ่งได้ประโยชน์นั้น คุณหมอฆนัท ยืนยันว่า ในชีวิตประจำวัน หากได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาด ร่างกายก็ได้รับสารอาหาร ในจำนวนที่เพียงพอแล้วแทบไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำผลไม้เพิ่มเลย หมอขอย้ำว่า ร่างกายต้องการสารอาหารในระดับพอดี อย่าไปเชื่อว่า ยิ่งได้รับมากยิ่งดี

“มีคนไข้ของหมอรายหนึ่ง ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง จากประวัติของคนไข้มา พบหมออย่างสม่ำเสมอ แต่วันร้ายคืนร้ายก็ถูกหามมาส่งที่โรงพยาบาล แพทย์เวรก็รับเข้าห้องไอซียูทันที สอบถามญาติก็รู้ว่า ก่อนหน้าที่จะมาโรงพยาบาล คนไข้ดื่มน้ำผลไม้ปั่นไป 2 แก้ว จากการดื่มน้ำผลไม้ 2 แก้วนี้เอง จึงส่งผลให้โปแตสเซียมในเลือดขึ้นสูง หัวใจจึงเต้นผิดจังหวะ แต่โชคดีที่คนไข้มาถึงโรงพยาบาลได้ ทันเวลา ไม่เช่นนั้นโอกาสคงรอดน้อยเต็มที

“กรณีตัวอย่างของคนไข้รายนี้ ชัดเจนว่า ร่างกายต้องการสารอาหารในระดับที่พอดี ถ้าได้รับมากเกินไป ก็จะเกิดปัญหา ในภาวะคนที่ไม่ปกติ เช่น ผู้ที่ ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง การบริโภคน้ำผลไม้มากเกินไปก็อาจจะมีอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ การบริโภคน้ำผลไม้มาก ก็อาจส่งผลให้คนปกติกลายเป็นโรคอ้วน มีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง”

ส่วนความเข้าใจเรื่องสุดท้าย ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่า น้ำผลไม้มีสารต้านอนุมูลอิสระ ต่อต้านเซลล์มะเร็งนั้น หมอขอบอกว่า ยังไม่มีงานวิจัยมายืนยันว่า สารต้านอนุมูลอิสระจากน้ำผลไม้ จะต่อต้านมะเร็งในคนได้ เพราะฉะนั้น หมออยากให้คนนิยมดื่มน้ำผลไม้นั้น

นอกจากนี้ มีงานวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์คุณสมบัติการต่อต้านอนุมูลอิสระและปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม เพื่อสุขภาพ ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2549 ของ ปาจรีย์ อับดุลลากาซิม นักศึกษาปริญญาโท สาขาโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กรุงเทพมหานคร พบว่า เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีคุณสมบัติของสารต่อต้านอนุมูลอิสระนั้น ต้องเป็นเครื่องดื่ม ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการในการผลิตทางอุตสาหกรรมอาหารในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ทั้งพาสเจอไรส์ และสเตอริไรส์

ปาจรีย์ ได้นำเครื่องดื่มที่โฆษณาว่าเพื่อสุขภาพ 10 ชนิด มาเข้าห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ พบว่า เครื่องดื่มที่ได้ผ่านกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมอาหารมาแล้ว จะทำให้สารต้านอนุมูลอิสระหายไปมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์และมีเครื่องดื่ม บางชนิดที่ไม่เหลือสารต้านอนุมูลอิสระให้เห็นเลย สิ่งที่คงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงในเครื่องดื่มที่โฆษณาว่าเพื่อสุขภาพก็คือ น้ำตาล เพราะฉะนั้น การโฆษณาของน้ำผลไม้บางพวกที่บอกว่า ในน้ำผลไม้จะมีสารต้านอนุมูลอิสระ คงจะขัดแย้งกับงานวิจัยฉบับนี้

เธอแยกน้ำผลไม้ที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาดนั้นจะมี 3 แบบ

แบบที่ 1 เรียกว่า น้ำผลไม้คั้นสด

แบบที่ 2 เรียกว่า น้ำผลไม้เข้มข้น และ

แบบที่ 3 เรียกว่า น้ำผลไม้แบบผสม

วิธีการทำน้ำผลไม้ที่เธอเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ น้ำผลไม้เข้มข้น และน้ำผลไม้แบบผสม ขั้นตอนการทำน้ำผลไม้ทั้ง 2 แบบนี้ จะทำให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ ต่อร่างกายหายไป สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อมา น้ำผลไม้บางยี่ห้อโฆษณาว่า มีเนื้อผลไม้อยู่ในกล่อง แต่ข้อมูลที่ปาจรีย์ได้รับกลับตรงกันข้าม เนื้อผลไม้ในกล่องของน้ำผลไม้ส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นเนื้อผลไม้ที่มาจากธรรมชาติที่แท้จริง แต่ มาจากการใส่สารเติมแต่ง เช่น แป้งแปลงรูป ( Modified starch) ซึ่งจะทำให้เกิดเนื้อผลไม้เทียม ( Pulp) ขึ้นมา

นอกจากนั้น ในกระบวนการผลิตน้ำผลไม้ ยังมีการใส่สารแขวนลอย ( Stabilizer) สารเติมแต่ง ( Additives) วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additives) น้ำ , น้ำตาล , กรด รวมไปถึงการปรุงแต่งกลิ่นรสให้ถูกปากของผู้บริโภค ปาจรีย์ บอกว่า ข้อมูลการทำน้ำผลไม้แบบนี้ ไม่ใช่เธอคนเดียวที่รับรู้ นักศึกษาที่เรียนด้าน โภชนศาสตร์ และด้านเทคโนโลยีอาหารในทุกระดับต่างรับรู้กันหมด

“เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ผู้นิยมดื่มน้ำผลไม้ส่วนใหญ่ ไม่ได้มีโอกาสที่จะรับรู้ ข้อมูลเหล่านี้” ปาจรีย์ กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลจาก นายแพทย์ฆนัท ครุธกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ และโภชนวิทยาคลินิก ศูนย์หัวใจหลอดเลือด และเมแทบอลิซึม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ปาจรีย์ อับดุลลากาซิม นักวิจัยทางโภชนาการ เครือข่ายคนไทยไร้พุง ของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และ ramachannel

เนื้อหาต้นฉบับ