อย่าลืมบุญ 9 อย่างไม่ต้องควักกระเป๋า ไม่ต้องใช้เงิน หรือวัตถุสิ่งของใดๆ ในการทำเลย

2336
views
บุญกิริยาวัตถุ

“เชื่อไหมครับวิธีทำบุญที่กล่าวมา มี 9 วิธีที่ไม่ต้องใช้เงิน หรือวัตถุสิ่งของใดๆ ในการทำเลย แต่ทำไมคนไทยจึงชอบทำแต่ทานมัยอย่างเดียว ซึ่งทานมัยนี้ต้องใช้ทรัพย์สินเงินทอง หรือใช้วัตถุสิ่งของในการทำด้วย

พอพูดถึงการทำบุญหลายคนก็จะนึกถึงทาน-การให้ การถวาย ซึ่งมีคำเรียกเป็นทางการว่า “ทานมัย” (บุญที่สำเร็จด้วยการให้ หรือการให้ก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง) มาก่อนเรื่องใดๆ ยกตัวอย่าง เช่น การใส่บาตร ถวายสังฆทาน ถวายไตรจีวร ถวายเภสัชแก่พระ เป็นต้น ทำให้ถึงคราวอยากทำบุญขึ้นมาก็มักจะนึกถึงพระ นึกถึงการใส่บาตร การถวายสังฆทาน ทั้งที่ในความเป็นจริงมีวิธีทำบุญตามแนวทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ มากถึง 10 วิธี ดังนี้

ตักบาตรวันอาทิตย์

1.ทานมัย หมายถึง การให้ การสละ การแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นให้ข้าวของเครื่องใช้ เงินทอง ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม อาหาร หรืออะไรก็ตาม ไม่ว่าจะถวายพระหรือให้คนทั่วไป หรือสัตว์เลี้ยงก็ถือเป็นบุญทั้งสิ้น เช่น ใส่บาตรพระก็เป็นบุญ ให้เงินคนพิการก็เป็นบุญ ให้สิ่งของคนทั่วไปก็เป็นบุญ อย่างเรียกว่า การทำบุญด้วยการให้ หรือทานมัย

2.สีลมัย บุญที่เกิดจากการรักษาศีล เช่น ศีล 5 สามารถรักษาข้อไหนได้ก็รักษาข้อนั้นไปก่อน พอรักษาได้ก็ขยับไปรักษาข้ออื่นเพิ่ม เช่น ข้อ 5 การงดเว้นจากการดื่มสุราและเสพของมึนเมา ถ้าไม่มั่นใจก็ไปรักษาข้อ 2 (ไม่ลักทรัพย์) หรือ ข้อ 3 ไม่ผิดลูกเมียผัวคนอื่น อย่างนี้เรียกว่า บุญรักษาศีล

ภาวนา

3.ภาวนามัย คือบุญภาวนา เช่น การนั่งสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม นั่งกรรมฐาน ซึ่งสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องไปวัด หรือสำนักปฏิบัติธรรม ที่บ้าน ที่ทำงาน ในห้องน้ำก็ยังได้ บางคนไม่ต้องใช้วิธีอะไรมาก ไม่จำเป็นต้องนุ่งขาวห่มขาว ขอแค่มีสติอยู่กับตัว ทุกขณะรู้ว่าตัวเองทำอะไร อย่างนี้ก็เป็นบุญภาวนา

4.อปจายนมัย การประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนก็เป็นบุญ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเคารพ ความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เช่น ด้วยการไหว้ หรือคำพูดที่แสดงถึงความเคารพ การให้เกียรติคนอื่น หรือแม้แต่การไหว้พระ ไหว้โบสถ์วิหาร ลาน พระเจดีย์ ก็เป็นบุญ

ไวยาวัจมัย

5.ไวยาวัจมัย บุญที่เกิดจากการขวนขวายช่วยเหลือ ไม่ว่างานสังคม งานส่วนรวม หรือแม้แต่การขวนขวายช่วยเหลือคนอื่นก็เป็นบุญ เช่น เวลามีงานช่วยเหลือสังคม งานบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ถ้าไม่มีเงินช่วยก็ไปช่วยออกแรง งานจิตอาสาทั้งหลายก็นับเข้าในไวยาวัจมัย

6.ปัตติทานมัย คือ การเปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมบุญด้วย ไม่ว่าจะทำบุญอะไรก็เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญ ไม่หวงทำคนเดียว เช่น สมมติทำบุญสร้างกุฏิพระก็ให้คนอื่นได้ร่วมด้วย ซึ่งยังรวมถึงการเปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมแสดงความคิดเห็น รวมถึงการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วก็เป็นการทำบุญในข้อนี้

7.ปัตตานุโมทนามัย การอนุโมทนาในการทำความดีหรือทำบุญของผู้อื่น เมื่อเห็นเขาทำแล้วก็รู้สึกชื่นชมยินดีไปด้วย ไม่คิดอิจฉาระแวงสงสัยในการทำความดีของ ผู้อื่น มีแต่อนุโมทนายินดี อย่างนี้ก็เป็นบุญ

ฟังธรรม

8.ธัมมัสสวนมัย การฟังธรรมย่อมทำให้ได้ฟังเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อสติปัญญาและการดำเนินชีวิต ไม่จำเป็นต้องไปฟังที่วัดหรือจากพระ ฟังจากเทป ซีดีหรือฟังจากผู้รู้ก็ได้ แล้วธรรมในที่นี้ก็มิได้หมายเฉพาะหลักธรรมศาสนา แต่ยังหมายรวมไปถึงเรื่องดีๆ ที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้และปัญญา ผลบุญข้อนี้จะทำให้ผู้ฟังเกิดการรู้แจ้งเห็นจริงยิ่งขึ้น

9.ธัมมเทสนามัย คือการให้ธรรมะหรือข้อคิดดีๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเพื่อที่คนฟังจะได้นำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์หรือบอกต่อคนอื่น หรือการให้คำแนะนำคนอื่นให้เขารู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เช่น สอนวิธีการทำงานให้ เป็นต้น อย่างนี้ก็เป็นบุญ

ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่

10.ทิฏฐุชุกรรม การทำความเห็นให้ถูกต้อง หรือปรับความคิดตัวเองให้เห็นตามความเป็นจริง เช่น ลูกบางคนเกิดมาถูกพ่อแม้ทิ้งก็หาว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณต่อเพราะไม่เคยเลี้ยง อย่างนี้เรียกว่ามีความเห็นผิด ต้องทำความเห็นให้ถูกเสียใหม่ว่า ถ้าพ่อแม่ไม่มีคุณเราก็คงไม่ได้เกิดมา การที่แม่ไม่เลี้ยงคงมีความจำเป็นที่ลูกไม่รู้ บางคนบอกทำดีได้ดีมีที่ไหนทำชั่วได้ดีมีถมไป คิดอย่างนี้ถือว่าเห็นผิด ต้องทำความเห็นให้ถูก ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว เปรียบเหมือนหว่านพืชเช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้น ปลูกมะม่วงต้องได้มะม่วงไม่มีทางเป็นอื่น นี่คือทิฏฐุชุกรรม

ดูต้นฉบับ