ประวัติ พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส อินทปัญโญ)

2564
views
พุทธทาส อินทปัญโญ

“มนุษย์เราจะเป็นมนุษย์อยู่ได้ ก็เพราะกำลังประกอบอยู่ด้วย ธรรม มิฉะนั้นจะต้องสูญเสียความเป็นมนุษย์ หรือต้องตาย ในที่สุด โดยไม่ต้องสงสัย มนุษย์ที่ไม่ประกอบอยู่ด้วยธรรม ก็ต้องประกอบอยู่ด้วยอธรรม เป็นธรรมดา และจะต้องเป็น อมนุษย์ในร่างของมนุษย์ โลกนี้จะเป็นอย่างไร หากเป็นโลก ที่ประกอบอยู่ด้วยอมนุษย์ในร่างของมนุษย์ เต็มไปทั้งโลก ”

พระธรรมโกศาจารย์

พระธรรมโกศาจารย์ หรือที่รู้จักกันในนาม ท่านพุทธทาสภิกขุ มีนามเดิมว่า เงื่อม พานิช กำเนิด ๒๗ พ.ค. ๒๔๔๙ สถานที่เกิด ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ในสกุลของพ่อค้า บิดาเป็นผู้มีเชื้อสายจีน ชื่อ เซี้ยง พานิช มารดาชื่อ เคลื่อน พานิช มีน้องชายและหญิง ๒ คน ขณะที่ตัวของท่านได้รับมรดกความสามารถด้านกวีและด้านช่างไม้จากบิดา ดังจะเห็นได้จากงานไม้บางส่วนที่สวนโมกขพลาราม ซึ่งคณะสงฆ์สร้างขึ้นเอง และท่านพุทธทาสภิกขุยังมีผลงานธรรมะส่วนหนึ่งที่ประพันธ์ไว้ในรูปร้อยกรอง ซึ่งมีความไพเราะ และดึงดูดใจให้คนทั้งหลายเข้าถึงเนื้อหาธรรมะได้ง่ายขึ้น

เงื่อม พานิช

ชีวิตในช่วงเด็ก เงื่อม พานิช ร่ำเรียนจนถึงชั้น ม.๓ แล้วต้องออกมาทำงานค้าขายแทนบิดาที่เสียชีวิต จากนั้นได้เริ่มบวชเรียนเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๖๙ ขณะอายุได้ ๒๐ ปี ที่โรงอุโบสถวัดอุบล หรือวัดนอก ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ที่วัดพุมเรียง มีพระอุปัชฌาย์คือ พระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) รองเจ้าคณะเมืองในสมัยนั้น ได้รับฉายาว่า “อินทปญฺโญ” ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ เดิมตั้งใจจะบวชตามประเพณีเพียง ๓ เดือน แต่ด้วยความสนใจและซาบซึ้งในความรู้สึกเป็นสุข สนุกในการศึกษาและเทศน์แสดงธรรม ทำให้ท่านไม่อยากสึก ในต่อมาจึงได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร สอบได้นักธรรมเอกแล้วเรียนภาษาบาลีจนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค

พระเงื่อม

ขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน พระเงื่อม ได้เขียนบทความชิ้นแรกชื่อ “ประโยชน์แห่งทาน” เพื่อพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระอุปัชฌาย์ มีเนื้อความตอบคำถามของคนสมัยใหม่ที่เริ่มสงสัยคุณค่าของการทำทาน ก่อนจะเขียนบทความขนาดยาวเรื่อง “พระพุทธศาสนาขั้นบุถุชน” อธิบายคุณค่าของพระพุทธศาสนาด้วยภาษาสมัยปัจจุบัน และเริ่มแสดงความคิดเห็นว่า มรรค ผล นิพพาน เป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงในยุคสมัยนี้ ซึ่งบทความนี้พิมพ์เป็นหนังสือแจก งานฉลองโรงเรียนนักธรรมวัดพระบรมธาตุไชยา

ในระหว่างที่ร่ำเรียนเปรียญธรรม ๔ อยู่นั้น ท่านได้ศึกษาเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา อินเดีย และการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอนธรรมะที่ยึดถือรูปแบบตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป ความย่อหย่อนในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจนความเชื่อที่ผิด ๆ ของพุทธศาสนิกชนในเวลานั้น ท่านจึงตัดสินใจเดินทางกลับไชยา เพื่อศึกษาและทดลองปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น

พุทธทาส อินทปัญโญ

เวลาต่อมา ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ร่วมกับน้องชายคือ ยี่เกย พานิช ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น นายธรรมทาส พานิช และคณะธรรมทาน จัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม “สวนโมกขพลาราม” ขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๕ จากนั้นท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น และได้ประกาศใช้ชื่อนาม “พุทธทาส” เพื่อแสดงให้เห็นถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน

ผลจากการมุ่งมั่นศึกษา ฝึกฝนตนอย่างเข้มงวด และอุทิศชีวิตถวายแด่พระศาสนาของท่าน ทำให้ท่านได้รับการ นับถือยกย่อง จากพุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศ และจากต่างประเทศ ผลงานของท่านได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งที่เป็นภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ กระทั่งได้รับการยอมรับจากชาวโลกว่าเป็น สมณปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีบทบาทอย่างสูง ต่อพุทธศาสนา

พุทธทาส อินทปัญโญ

ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ สิริรวมอายุ ๘๗ ปี ๖๗ พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่านให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่านรับมรดกความเป็น “พุทธทาส” เพื่อพุทธทาสจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนา

– เรียบเรียง

  ถมนคร เครื่องถมเมืองนคร