ขนมจั๋ง หรือ ขนมจ้าง ขนมซั้ง กีจ่าง ขนมหวานโบราณ ขนมพื้นบ้านภาคใต้

10308
views

ขนมพื้นบ้านปักษ์ใต้ ที่มีรูปทรงสามเหลี่ยม สีเหลืองใส คล้ายข้าวต้มสามเหลี่ยม จะกินเปล่าๆ ก็อร่อยนุ่มลิ้น หรือจะเพิ่มความหวานจิ้มน้ำตาลอ้อยก็อร่อยไปอีกแบบ หรือจะให้ถึงใจต้องนำใส่ในน้ำเชื่อมเติมน้ำแข็งลงไปรับรองจะติดใจ หลายๆ คนคงนึกออกแล้วว่าขนมที่กล่าวมานี้ คือ ขนมจั้ง (แถวๆ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเขามักจะเรียกกันแบบนี้) ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจจะเรียกแตกต่างกันไป เช่น ขนมจ้าง ขนมซั้ง ขนมจั้ง กีจ่าง เป็นต้น และในปัจจุบันวัฒนธรรมการกินขนมจั้ง เริ่มเลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย

วิธีการทำ กีจ่าง หรือ ขนมจั้ง ในปัจจุบันอาจจะมีการประยุกต์ปรับเปลี่ยนสูตรกันบ้าง

ขนมจั้ง

สมัยก่อนทำน้ำด่างใช้เอง แล้วจึงค่อยตักน้ำด่างใสๆ มาคลุกพอข้าวเหนียวออกสีเหลือง และเม็ดข้าวนิ่มๆ ก็พร้อมที่จะห่อมัดจั้งแล้ว โดยตักข้าวลงกลางใบไม้ไผ่ ใช้มือห่อเป็นมุมสามเหลี่ยม แล้วดึงเชือกปอที่ติดกับเสาแคร่มามัด เมื่อได้ขนมจั้งพวงใหญ่ ก็นำไปต้มในปี๊บ เติมน้ำพอท่วมประมาณ 4 ชั่วโมง ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย การต้มนานจะช่วยให้ขนมเหนียวดี…

(น้ำด่างสมัยก่อนนั้นได้มาจากการนำเปลือกทุเรียนหรือเปลือกนุ่น งวงตาลแห้งมาเผา แล้วนำขี้เถ้ามาแช่น้ำไว้สัก 5-6 วัน ตั้งทิ้งไว้จนตกตะกอน จึงค่อยตักน้ำใสๆ มาใช้ แต่สมัยนี้ เพื่อความสะดวกก็ใช้น้ำด่างจากตลาด)

ขนมจ่าง หรือ กีจ่าง วิธีการทำก็ง่ายมากๆ วันนี้มีฉบับย่อมาฝากกัน

ขนมจั้ง

ส่วนผสม : ข้าวเหนียว 0.5 กิโลกรัม, ผงด่างสีเหลือง (กี) 1 ช้อนชา, ใบไผ่สด 0.5-1 กิโลกรัม, เชือกสำหรับมัด

วิธีทำ : ล้างข้าวเหนียวด้วยน้ำ 2-3 ครั้งแล้วซาวให้สะอาด (โดยไม่ต้องแช่) ใส่กระชอนพักให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นนำไปผสมกับผงด่างเหลือง คนให้เข้ากัน (สมัยก่อน ทำน้ำด่างโดยใช้งวงตาลแห้งมาเผาแล้วนำขี้เถ้ามาแช่ไว้สัก 5-6 วัน จึงตักน้ำใสๆ มาใช้ แต่สมัยนี้หาซื้อได้ง่ายๆ จากตลาด) มาคลุกให้ทั่ว

คลุกน้ำด่างให้พอข้าวเหนียวออกสีเหลือง และเม็ดข้าวนิ่มๆ พร้อมที่จะห่อมัดจั้งแล้ว

ล้างใบไผ่ให้สะอาด ตัดหัวท้ายออกเล็กน้อย ใช้ใบไผ่ 2 ใบ เอาด้านเขียวอ่อนประกบกัน โดยเอาหัวท้ายสับกัน พับริมข้างหนึ่งเป็นรูปกรวย ตักข้าวเหนียว 2 ช้อนชา ลงกลางใบไม้ไผ่ ใช้สองมือโอบจีบหัวท้ายพับมุมหมุนพริ้วไปเป็นมุมสามเหลี่ยม แล้วมัดด้วยเชือกให้แน่นๆ เมื่อได้ขนมจั้งพวงใหญ่ นำไปต้มในปี๊บเติมน้ำพอท่วม ประมาณ 4 ชั่วโมง การต้มนานจะช่วยให้ขนมเหนียวดี หลังต้มเสร็จทิ้งไว้สักครู่ และก็กินได้ทันที

ขนมจั้ง

กี เป็นด่างผงสีเหลืองอ่อนชื้นๆ คล้ายเกลือป่นละเอียด มีขายย่านเยาวราช หรือทำเองโดยใช้เปลือกทุเรียนตากแห้งเผาจนเป็นถ่าน แล้วบดแช่น้ำให้เป็นน้ำด่างก็ได้ ส่วนใบไผ่ก็หาซื้อได้ในตลาดย่านเดียวกัน (การทำขนมจั้งนั้นยากตรงที่ไปหาใบไม้ไผ่ป่า อย่างอื่นก็ไม่ยาก)

ขนมหลายชนิดยังคงวางขายอยู่ตามท้องตลาด แต่ขนมหลายชนิดหายากและค่อยๆ สูญหายไปจนกระทั่งคงเหลือแต่ในตำนานและบันทึกไว้ในตำราเท่านั้น แต่ยังไงก็คงไม่ได้มาจากวิถีชีวิตที่แท้จริงเหมือนเช่นเมื่อก่อนอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ก็แค่เพราะต้องการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยพื้นบ้านไม่ให้สูญหาย หรือถูกลืมเลือนไปเท่านั้นเอง

ต้นฉบับ