รพ.สิชล เปิดเคสชายวัย 78 ปี ปวดท้องนาน 6 เดือนพบ “นิ่วเขากวาง” ในไต

816
views
นิ่วเขากวาง

ผอ.โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช เปิดเคสผู้ป่วยชายวัย 78 ปี ปวดท้อง ปวดหลัง และบั่นเอวนานกว่า 6 เดือน ตรวจพบ “นิ่วเขากวาง” ในไต แนะดื่มน้ำสะอาดมากๆ เลี่ยงอาหารที่มีสารก่อนิ่วในปริมาณสูงลดเสี่ยงนิ่วในไต

วันนี้ (29 พ.ค.2563) นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Arak Wongworachat ระบุว่า ผู้ป่วยชายอายุ 78 ปี มาด้วยอาการเป็นไข้ หนาวสั่น ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดบั่นเอว ทุกข์ทรมานมานานกว่า 6 เดือน ซื้อยากินเองเป็นๆ หายๆ ปัสสาวะสีเข้ม ออกขุ่นบ่อยครั้ง จนเบื่ออาหารร่างกายซูบผอมลงไปมาก จึงตัดสินใจมาโรงพยาบาล แพทย์เวรตรวจร่างกาย เบื้องต้น มีไข้ กดเจ็บในท้อง เคาะที่หลังด้านซ้ายจะปวดมาก จึงวินิจฉัยว่าเป็นภาวะไตติดเชื้อ รับผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาล ให้ยาต้านเชื้อชนิดฉีดเข้าเส้น 7 วัน ให้ยาไปกินต่ออีก 7 วัน

นิ่วเขากวาง

ขณะเดียวกัน เอกซเรย์ช่องท้อง จะเห็นเป็นก้อนสีขาว ขนาดใหญ่บริเวณตำแหน่งไตด้านซ้าย ประมาณ 8 ซม. เป็นนิ่วที่มีลักษณะคล้ายเขากวาง ตำราฝรั่งจึงเรียกว่า staghorn stone แปลเป็นไทยคือ นิ่วเขากวาง เมื่อมาดูค่าการทำงานของไต ก็เริ่มเสื่อมลง ถ้ายังเก็บนิ่วเอาไว้ ก็มีแต่ทำให้ติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปวดท้องทุกข์ทรมาน ไตเสื่อมลงไปทุกวัน จนไตวายก็เป็นอีกเรื่องของชีวิตเลยทีเดียวใครไม่เป็นก็คงไม่รู้

เมื่อรักษาภาวะติดเชื้อดีแล้ว ศัลยแพทย์ก็นัดมาผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออก แพทย์เลือกใช้วิธีการผ่าแบบมาตรฐาน เปิดท้องด้านชายโครงซ้าย เปิดไตเอาก้อนนิ่วออก แล้วเย็บปิดแผลที่ไต ระบายเลือดไม่ให้ตกค้างในท้อง การผ่าแบบนี้ข้อดีแม้แผลอาจใหญ่เล็กน้อย แต่เอานิ่วออกได้หมด ผลการผ่าตัดเรียบร้อยดี เป็นอีกโรคที่ทุกคนควรใส่ใจ ควรดื่มน้ำสะอาดมากๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มียูริคหรือออกซาเลต
ป้องกันไม่ให้เป็นนิ่วในไตได้อย่างไร?

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคนิ่ว คือ การตกตะกอนของสารต่างๆ จนกลายเป็นก้อนนิ่วเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีสารเหล่านี้ในปัสสาวะมากผิดปกติ หรือทางเดินปัสสาวะตีบแคบจากสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตีบแต่กำเนิด หรือมีก้อนเนื้ออุดกั้น ทำให้ปัสสาวะคั่งค้างในไตและสะสมกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด

นิ่วเขากวาง

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดนิ่ว ได้แก่

ดื่มน้ำน้อยเกินไป หรืออยู่ในภาวะขาดน้ำ, พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีสารก่อนิ่วในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้แก่ อาหารที่มีโปรตีน เกลือ และน้ำตาลสูง, ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนนั่นเอง

มีโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบทางเดินอาหาร เช่น ไตอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในท่อไต ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ โรคลำไส้อักเสบ ท้องเสียเรื้อรัง โรคเกาต์, ปัจจัยทางพันธุกรรม คือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนิ่วมาก่อน

ดูข่าวต้นฉบับ ภาพ : Arak Wongworachat