“เศรษฐี”ในครั้งพุทธกาล ต้องมี โรงทาน ถ้าไม่อย่างนั้น เป็นเศรษฐีนอกพระพุทธศาสนา

1935
views
พุทธทาสภิกขุ

“เศรษฐี” ในครั้งพุทธกาล ต้องมี..“โรงทาน” ถ้าไม่อย่างนั้น เป็นเศรษฐีนอกพระพุทธศาสนา มีหลักที่สรุปเป็นใจความสั้นๆได้ว่า “ทำมาก กินเก็บแต่พอดี เหลือช่วยผู้อื่น”

เศรษฐี ตามความหมายของคำว่า “เศรษฐี”
“เศรษฐี” แตกต่างกันกับ “นายทุนสูบเลือด”

❝ อยากจะเอามาเล่าให้ฟังกันหน่อย บางคนอาจจะยังไม่ทราบก็ได้ คำว่า “เศรษฐี เศรษฐี” น่ะ! ตัวหนังสือคำนี้มันแปลว่า “ประเสริฐที่สุด” เศรษฐี เศรษฐ นั้นแปลว่า “ประเสริฐ” เศรษฐีผู้มีความประเสริฐนั้นมันประเสริฐจริงๆ ถ้าเศรษฐีถูกต้องตามลักษณะของคำนั้น

พุทธทาสภิกขุ

แต่เดี๋ยวนี้ มันไม่มี ไม่มีเศรษฐีชนิดนั้น มันมีแต่ “นายทุนสูบเลือด” คนที่มั่งมีมากๆนั้นมันเป็นนายทุนสูบเลือดเพื่อนมนุษย์ ทำนาบนหลังคนไม่พอ แล้วมันทำนาบนหัวคน โน้น! เอากับมันสิ!

ถ้าว่าเป็นระบบเศรษฐีที่ถูกต้องนั้น เขาอยู่กันอย่างเพื่อนมนุษย์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีข้าทาสบริวาร แต่ว่ามันเป็นข้าทาสที่อยู่กันด้วยความรัก ไม่ใช่ซื้อมาใช้อย่างสัตว์ทรมาน

ฉะนั้น เศรษฐีก็เลี้ยงดูข้าทาสบริวาร แม้ที่เป็นทาสนั้นมันก็ยังได้รับประโยชน์เต็มตามที่ควรจะได้ ไปทำงานด้วยกันกับเศรษฐี วันพระไปวัดไปวาก็ไปด้วยกัน ทำงานด้วยกัน เหน็ดเหนื่อยด้วยกัน กินอยู่อย่างเดียวกัน .

เศรษฐี”ในครั้งพุทธกาล ต้องมี โรงทาน

แล้วเศรษฐีถ้ามีเงินเหลือกินแล้วก็ตั้งโรงทาน จัดโรงทานเพื่อจะให้แก่คนยากจนขัดสนพิกลพิการ หรือว่าบำรุงสมณะชีพราหมณ์ คือบรรพชิตนั่นแหละ บรรพชิตไม่ได้ทำนาทำไร่แต่มีประโยชน์สำหรับทำให้โลกนี้มีแสงสว่าง มีการเดินทางที่ถูกต้อง เห็นว่าจำเป็นจะต้องมีอยู่ในโลก พวกบรรพชิตเหล่านี้จึงอยู่ในฐานะที่ต้องได้รับการจุนเจือเกื้อหนุน ไม่ต้องไปทำนาเองก็มีชีวิตอยู่ได้ เพื่อทำหน้าที่ของตน คือเป็นแสงสว่างแก่มนุษย์ทุกคน ก็ตั้งโรงทานเพื่อประโยชน์แก่บรรพชิตเหล่านี้บ้าง เพื่อประโยชน์แก่คนพิกลพิการคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้บ้าง หรือว่าคนที่จำเป็นจะต้องพึ่งโรงทานก็ตั้งโรงทาน เพราะเขามีความรู้สึกในจิตใจว่า “เราเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทุกคน”…❞

พุทธทาสภิกขุ | ที่มา : ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ ภาคอาสาฬหบูชา ชุดสันติภาพของโลก ครั้งที่ ๒๓ เมื่อ ๒๗ กันยายน ๒๕๒๙ / เพจธรรมะ เพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปญฺญาวุฑฺโฒ